สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศหรือไออีเอ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ออกรายงานระบุว่า ตลาดน้ำมันทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะตึงตัว จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความไม่ชัดเจนของปริมาณน้ำมันดิบในคลังที่ลดลงตั้งแต่รัสเซียถูกคว่ำบาตรหลังบุกยูเครน แนวโน้มเศรษฐกิโลกที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง และความหวั่นเกรงภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งกระทบความรู้สึกของบรรดานักลงทุน ทำให้ต้องประเมินสถานการณ์ให้รอบคอบมากขึ้น ซึ่งไออีเอ ยอมรับว่าไม่บ่อยนักที่ทิศทางของตลาดน้ำมันโลกจะอยู่ในภาวะอึมครึม ไม่ชัดเจนอย่างต่อเนื่องดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ไออีเอเตือนว่า ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นและแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงเริ่มส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอ่อนแอเกินคาด ขณะเดียวกันปริมาณน้ำมันดิบจากรัสเซียยังคงเข้าสู่ตลาดอื่นๆอย่างสม่ำเสมอ ยกเว้นตลาดสหรัฐฯและกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งคว่ำบาตรรัสเซีย ช่วยลดภาวะตึงตัวในตลาดโลกได้เช่นกัน
ไออีเอ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์แนวโน้มความต้องการน้ำมันดิบปีนี้ (2565) ลง 200,000 บาร์เรลต่อวัน พร้อมทั้งปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์แนวโน้มความต้องการน้ำมันดิบของทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 1,700,000 ถึง 2,100,000 บาร์เรลต่อวันในปีหน้า (2566) ในจำนวนนี้รวมถึงความต้องการน้ำมันดิบของกล่มประเทศกำลังพัฒนาจะสูงถึง 101,300,000 บาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปก เช่น ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐเอมิเรตส์ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้สูงกว่าเดิม คาดว่า กำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศทั้งสองจะอยู่ที่ 2,200,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนสิงหาคมนี้
ส่วนการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียในปัจจุบันอยู่ในอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่การที่ราคาน้ำมันดิบแพงขึ้น ทำให้รายได้การส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียรายเดือนอยู่ที่ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายฟาติห์ บิรอล ผู้อำนวยการองค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือไออีเอ เปิดเผยว่า วิกฤตพลังงานในปัจจุบันมีความรุนแรงและซับซ้อนเป็นอย่างมาก ทำให้มีแนวโน้มที่สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้น ระบบพลังงานของโลกเผชิญกับวิกฤตเมื่อรัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานความร้อนในบ้าน และต้นทุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ
เขากล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤตพลังงาน หลายประเทศให้ความสนใจเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งนอกจากนี้ยังพบความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนระบบพลังงานเป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ฤดูหนาวในปลายปีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากสำหรับยุโรป ซึ่งอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ จีนควบคุมห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานแสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 80 ของทั้งโลก และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 95 ในปี 2568 โดยจีนควบคุมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับลิเทียมไอออนได้เกือบหมด และเป็นผู้ผลิตพลังงานลมรายใหญ่ รวมทั้งกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนสะอาด
นายมาร์ติน กรีน จากมหาวิทยาลัยแห่งนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า การสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานของพลังงานสะอาด จะช่วยให้เราสามารถปกป้องผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งถัดไปได้
....