องค์การสหประชาชาติ เผยแพร่รายงานสถานะความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของโลก (State of Food Security and Nutrition in the World 2022) ปี 2565 นำเสนอข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารและสถานการณ์ทางโภชนาการทั่วโลก รวมถึงการประมาณการล่าสุดเกี่ยวกับต้นทุนและความสามารถในการจ่ายสำหรับอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งพบว่า สถานการณ์ต่าง ๆ มีความรุนแรงมากขึ้น ประชากรราว 828 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 10 ของประชากรโลก ได้รับผลกระทบจากความหิวโหย โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 150 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2562
รายงานฉบับนี้เป็นการทำงานร่วมกันขององค์การอาหารและการเกษตร (FAO) กองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการเกษตร (IFAD) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ (WFP) และองค์การอนามัยโลก (WHO)
นายกิลเบิร์ต ฮวงโบ ประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการเกษตร กล่าวว่าตัวเลขที่ปรากฎในรายงานนี้เป็นเรื่องที่น่าสลดใจสำหรับมนุษยชาติ เพราะแสดงให้เห็นถึงการถอยหลังออกจากเป้าหมายในการยุติความหิวโหยภายในปี 2573 ผลกระทบจากวิกฤตอาหารทั่วโลกจะทำให้ผลลัพธ์ที่แย่ลงไปอีกในปีหน้า มีความจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางที่เข้มข้นกว่านี้เพื่อยุติความหิวโหย
และนางแคทเธอรีน รัสเซลล์ หัวหน้ากองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า วิกฤตในปัจจุบันมีความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะต้องมีการทำงานเพิ่มเป็น 2 เท่าเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กที่เปราะบางที่สุดสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัย และราคาไม่แพง
...
#สหประชาชาติ
#วิกฤตอาหารโลก