ศบค.เปิดข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ‘เจอแจกจบ’ เฉลี่ยวันละ 2.9 หมื่น ทั่วประเทศ

08 กรกฎาคม 2565, 17:33น.


          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำถึงกรณีที่มีการออกข่าวหรือมีนักวิชาการออกมาให้ข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากนั้นว่า อาจจะมีทั้งข้อมูลที่สอดคล้องและผิด โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้ขอให้ฟังข้อมูลจาก ศบค.เป็นหลัก



          ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้แสดงรายงานข้อมูลผู้ป่วยแบบ OPSI กรณีเจอแจกจบ เป็นผู้ป่วยนอกที่ไปรับยาแล้วกลับบ้าน ตั้งแต่ มี.ค.65 - 6 ก.ค.65 มีทั้งสิ้น 5,113,782 คน และพบว่า ในสัปดาห์ที่ 26 มีผู้ป่วยประมาณ 207,643 คน หรือเฉลี่ยวันละ 29,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ป่วยจริง



          โดยนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อแนะนำว่า ตัวเลขนี้มีความสำคัญที่จะต้องสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้ได้รับทราบ แต่อาการผู้ติดเชื้อไม่หนัก และเห็นด้วยกับตัวเลขกระทรวงสาธารณสุขที่รายงานจำนวนผู้รักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นายอนุทินยืนยันว่ายังมีเตียงรองรับเพียงพอ เตียงทุกระดับ มีทั้งหมด 103,798 เตียง ใช้ไป 11.2% ซึ่งเตียงผู้ป่วยระดับหนึ่งหรือป่วยน้อย มีทั้งหมด 78,229 เตียง ใช้ไปเพียง 11% ผู้ป่วยระดับสองและระดับสาม มีทั้งหมด 5,694 เตียง ใช้ไป 13.4%

          นายกฯเน้นย้ำว่าเรื่องการสวมหน้ากาก ภูมิคุ้มกัน การรวมกลุ่ม แม้จะผ่อนคลายมาตรการ แต่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยดูแลประชาชนในภาพรวมเพื่อจะได้ไม่เจอการแพร่ระบาดที่สูงกว่านี้ โดยผู้ป่วยรายใหม่อาจจะมีพุ่งขึ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์ รวมถึงผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลอาจจะเพิ่มขึ้น โดยการระบาดจะสูงขึ้นประมาณเดือน ก.ย. และจะเริ่มลดลงในเดือน พ.ย. เช่นเดียวกับตัวเลขผู้เสียชีวิต ที่จะเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย. แต่หากประชาชนให้ความร่วมมือ ตัวเลขจะได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในฉากทัศน์นี้



          ส่วนของแผนการฉีดวัคซีน ขณะนี้มี 4 จังหวัดที่มีประชากรกลุ่มเป้าหมายฉีดเข็มกระตุ้นมากกว่าร้อยละ 60 ได้แก่ กทม. ภูเก็ต นนทบุรี และสมุทรปราการ ขณะที่ 10 จังหวัดที่ฉีดน้อยที่สุด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล บึงกาฬ สกลนคร หนองบัวลำภู แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช และพัทลุง ส่วน 4 จังหวัดที่ผลการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มากกว่าร้อยละ 60 ประกอบด้วย ภูเก็ต น่าน สมุทรปราการ กทม. ขณะที่ 10 จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปน้อยที่สุด ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี บึงกาฬ ยะลา สตูล สกลนคร หนองบัวลำภู แม่ฮ่องสอน สระแก้ว และหนองคาย



          ทั้งนี้ ประเทศไทยจัดหาวัคซีนมาแล้วทั้งสิ้น 169.76 ล้านโดส ตอนนี้วัคซีนมีเพียงพอ ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรครายงานประสิทธิผลการฉีดวัคซีน โดยผู้ที่ฉีดสองเข็ม ป้องกันการติดเชื้อน้อยมาก ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 75% ผู้ที่ฉีดสามเข็มป้องกันการติดเชื้อได้ 15% ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 93% โดยวัคซีนทุกสูตรป้องกันได้ใกล้เคียงกัน



          ส่วนผู้ที่ฉีดสี่เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้ 76% ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 96% ที่ผ่านมายังไม่พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนสี่เข็ม ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบเปลี่ยนวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้ามาเป็น Long-acting-antibody (LAAB) จำนวน 257,500 โดส และยังเห็นชอบการปรับเปลี่ยนวัคซีนไฟเซอร์ที่ยังไม่ได้รับมอบ 3.6 ล้านโดส มาเป็นไฟเซอร์ Maroon cap สำหรับฉีดเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน และอายุน้อยกว่า 5 ปี จำนวน 3 ล้านโดส



 



#โควิด19

ข่าวทั้งหมด

X