อาฟเตอร์ช็อกโควิด-19 ในไทย เดือนก.ย.นี้ หมอจักรรัฐ แนะนำ สวมหน้ากากไว้ก่อน

04 กรกฎาคม 2565, 17:23น.


          การเฝ้าระวังโควิด-19 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่และเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 -ปี 2566  อาจจะเกิดการระบาดเป็นเวฟเล็กๆ เป็นอาฟเตอร์ช็อกตามมา จากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น เวฟเล็กแรกที่จะเจอคือ ช่วงสัปดาห์นี้ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 35 หรือช่วง 10 สัปดาห์จากนี้ไปจนถึง ก.ย.ที่จะเป็นช่วงพีคสุด 



          ขณะนี้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นแล้ว ทำให้อาจมีผู้ป่วยไปรักษาใน รพ.เพิ่มขึ้น คาดการณ์จากมาตรการที่ยังคงเหมือนในเดือนมิ.ย. คือ ยังสวมหน้ากาก ซึ่งตอนนี้มีผู้ป่วยเข้ารักษา 2 พันคนต่อวัน คาดว่า ก.ย.ไม่ควรจะเกิน 4 พันคนต่อวัน แต่หากผ่อนคลายมาตรการกันหมด ไม่สวมหน้ากาก ก็อาจจะเกินจากนี้ได้ แต่ยังต้องพิจารณาปัจจัยในช่วงเวลาใกล้ๆ อีกครั้ง แต่อาจไม่สูงเท่าโอไมครอนช่วงต้นปี เนื่องจากฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิต คาดว่าตัวเลขเพิ่มขึ้น



          สำหรับเฝ้าระวังยังอยู่ในระดับ 2  แนะนำให้สวมหน้ากาก หากเกิดการแพร่ระบาดมากๆ เป็นวงกว้าง ต้องรณรงค์ฉีดวัคซีน แม้ส่วนใหญ่ติดเชื้อไม่แสดงอาการและนอนที่บ้าน แต่กลุ่ม 608 ที่ไม่ชัดเจนว่าจะรับเชื้อเมื่อไร จะให้สวมหน้ากาก เว้นระยะห่างตลอดเวลาก็ยาก ลูกหลานไปเยี่ยมก็พาเชื้อมาได้ จึงจำเป็นต้องสวมหน้ากากให้มากที่สุด เมื่ออยู่กับคนอื่นและไปฉีดวัคซีน



          สถานการณ์โควิดทั่วโลกหลายประเทศพบรายงานเพิ่มขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย บางประเทศรายงานเสียชีวิตต่อเนื่อง ส่วนสายพันธุ์ย่อยโอไมครอน BA.4/BA.5 พบเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น BA.4 แอฟริกาใต้ พบ 64% ส่วน BA.5 อังกฤษ พบ 28% อเมริกา 25% ฝรั่งเศส 22% ออสเตรเลีย 21% และไทย 20% ใกล้เคียงทั่วโลก เพราะมีการผ่อนคลาย มีผู้เดินทางเข้ามา อาจพบติดเชื้อเพิ่มขึ้น



          สำหรับประเทศไทยวันนี้ผู้ป่วยปอดอักเสบพบ 677 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว  630 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 293 คน ยังไม่เพิ่มขึ้น ถือว่ายังทรงตัวอยู่ อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะที่ปอดอักเสบจะมีอาการมากขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตรายงาน 18 ราย ถือว่าคงตัวแนวโน้มลดลงเล็กน้อยและเริ่มทรงตัว ผู้ป่วยรายใหม่ทรงตัว ผู้ป่วยที่เข้ารักษาใน รพ.ยังไม่เพิ่มขึ้นมากใกล้เคียงกับ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แต่ผู้ป่วยอาการไม่มากอาจเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าระบบ HI จากที่เคยลงมาเหลือ 1 หมื่นคน ก็เพิ่มมาเกือบ 1.5 หมื่นคน การลงทะเบียนรับยาผ่านระบบ สปสช. ระบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นสัปดาห์ที่แล้วมาจาก 1.91 แสนคน เป็น 2.07 แสนคน ถือว่า เพิ่มมากขึ้น



          ผู้ป่วยปอดอักเสบและอัตราครองเตียงทั้งประเทศ 10.9% อยู่ในเกณฑ์ดี ถ้าเกิน 50% ต้องเพิ่มจำนวนเตียง ซึ่งหลายจังหวัดปรับเตียงโควิดอาการหนักไปใช้โรคอื่น ทำให้เตียงโควิดลดลง หลายจังหวัดมีสัดส่วนการครองเตียงเพิ่มขึ้น เช่น กทม. ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต แต่อัตราครองเตียง 20-30% ยังอยู่ในเกณฑ์รองรับได้



          ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ ยังมีมากพอรองรับเพียงพอ พบการระบาดในโรงเรียน สถานศึกษา เป็นคลัสเตอร์เล็กๆ หลายจังหวัด อาจแพร่ไปสู่ครอบครัว กลุ่ม 608 ได้



 



 



#โควิด19

ข่าวทั้งหมด

X