นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยข้อมูลผ่านทาง Facebook กอบศักดิ์ ภูตระกูล เรื่อง ไทยจะผ่านพ้นวิกฤตได้ ถ้าเราเตรียมการดี !!!! ในวิกฤตที่กำลังจะมาถึงใน 1-2 ปีข้างหน้า ส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ได้ เสนอ 3 ทางออก ให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตได้ โดยระบุว่า หลายคนถามว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นไปได้หรือไม่ สำหรับคำถามนี้ ทั้งหมดอยู่ที่ "การเตรียมการ" ทางออกของประเทศไทย ก็คือ ใช้เวลาที่เหลือก่อนที่มรสุมเศรษฐกิจจะครอบคลุม Emerging Markets ในการเตรียมการให้ดี ใน 3 เรื่อง
เรื่องแรก - เตรียมการสร้างแรงส่งหรือ Momentum ของเศรษฐกิจ เพราะเมื่อวิกฤตเกิดขึ้น เศรษฐกิจจะมีแรงต้านมากขึ้น ทำให้ทุกอย่างชะลอลง เราต้องใช้เวลาที่มีอยู่
(1.1) พลิกวิกฤตอาหารโลกให้เป็นโอกาสของภาคเกษตรไทย ทำให้คนอยู่ในภาคดังกล่าว 20 ล้านคนสามารถดูแลตนเองได้ดี เร่งปลด lock เรื่องปุ๋ยขาดแคลน ทั้งในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยจุลินทรีย์ และนำโปแตสที่เรามีออกมาใช้
(1.2) เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อให้คนอีก 10 ล้านคนในภาคท่องเที่ยวสามารถลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ซึ่งการที่ภาคท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวในช่วงนี้ ก็ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีของเรา ซึ่งหากเราสามารถปลุกภาคท่องเที่ยวได้ดีใน 1 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยก็จะมีแรงส่งให้กับ GDP ของประเทศเพิ่มมากกว่าประเทศอื่น ปีละ 2-3% อย่างน้อย
(1.3) เร่งภาคส่งออก ถ้าวิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้การค้าโลกแตกเป็นส่วนๆ ไทยซึ่งไม่มีปัญหากับใคร เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญของภูมิภาคก็จะได้โอกาส ดีกับคนอีก 2-3 ล้านคนที่ผลิตสินค้าส่งออกเหล่านี้
ค่าเงินบาทที่อ่อน จะช่วยให้ภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยว และภาคส่งออกไปได้ ทั้งหมดหมายความว่า ระหว่างที่ประเทศอื่นลำบากในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ไทยจะยังมีคน 30 กว่าล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ ที่ได้ประโยชน์จากวิกฤตที่เกิดขึ้น สามารถพอจะประคองตนได้ระดับหนึ่ง ซึ่งถ้ารัฐบาลเอาจริงเรื่องการลงทุนใน EEC ในโครงสร้างพื้นฐาน และในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ประเทศไทยก็จะมีแรงส่งทางเศรษฐกิจ ที่จะช่วยให้เราฟันผ่าวิกฤตที่รออยู่ได้
เรื่องที่สอง - เตรียมการทำตัวให้แตกต่าง ถ้านักลงทุนจะถามว่า Who is next? เราก็ต้องไม่เป็นคนนั้น เราต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ดูแลให้พื้นฐานเศรษฐกิจของเราดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ ไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากนัก หรือจะให้ดีก็คือ "เป็นบวก" จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวใน 2 ปีข้างหน้า จากการประหยัดการใช้พลังงาน มีฐานะการคลังที่พอไปได้ ไม่มีหนี้เยอะไปนัก มีสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง มีบริษัทเอกชนฐานะไปได้ ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ คือ "ตัวเลขหลัก" ที่นักลงทุนจับตามองอย่างใกล้ชิด โชคดีที่ขณะนี้ไทยมีเงินสำรองที่มากพอสมควร มีสถาบันการเงินและบริษัทเอกชนที่ฐานะดี
ถ้าเราสามารถฟื้นภาคท่องเที่ยว และสร้างแรงส่งให้กับเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้ ไม่ใช้เงินภาครัฐอย่างไม่ระวัง พยายามปล่อยให้ราคาน้ำมันเข้าสู่กลไกตลาดมากขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็จะค่อยๆ ดีขึ้น (ขณะที่คนอื่นแย่ลง) และจะทำให้รัฐบาลยังมีฐานะการคลังที่พอไปได้ (ไม่ดูสุ่มเสี่ยงเหมือนอีกหลายประเทศ)
หากประเทศไทยจะมีจุดอ่อนอยู่บ้าง ก็คือ หนี้ครัวเรือนที่สูง แต่การที่คน 30 กว่าล้านคนจะพอไปได้ช่วงที่เกิดวิกฤต ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา
เรื่องที่สาม - เตรียมการรับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้น เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก เราก็คงพลอยฟ้า พลอยฝน ได้รับผลกระทบด้วย จากการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบ แต่ถ้าเราเตรียมเรื่องที่หนึ่งและสองไว้ดี มีแรงส่งทางเศรษฐกิจ และมี Fundamentals พื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี ประเทศไทยก็น่าจะรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็น่าจะคล้ายๆ กับปี 2008 ที่เราได้รับผลกระทบไป 1-2 ปี ระหว่างที่เกิดวิกฤตรอบๆ แต่หลังจากมรสุมพัดผ่านไป เราก็จะสามารถออกตัวได้ดีกว่าคนอื่นๆ และกลับมาเดินหน้าได้ ขอย้ำอีกทีว่า หากเรารักษาตัวไว้ได้ดี ไม่ปล่อยเวลาที่เหลืออยู่ให้เสียไปโดยไม่เตรียมการ เราก็พอจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โอกาสระหว่างวิกฤตและหลังวิกฤต ก็จะดีอย่างยิ่งและจะเป็นของเรา"
#ทางออกวิกฤตเศรษฐกิจ
CR:Facebook กอบศักดิ์ ภูตระกูล