ดัชนี MPI เดือน พ.ค. ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.46% รับอานิสงส์เปิดประเทศ-จีนคลายล็อก

30 มิถุนายน 2565, 13:47น.


          กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพ.ค.65 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 7.46 เนื่องจาก การท่องเที่ยวฟื้นตัว หลังผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว



          นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมช่วง 5 เดือนแรกของปี 65 ว่าขยายตัวร้อยละ 0.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ อัตราการใช้กำลังการผลิต 5 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 64.11 ภาคการผลิตขยายตัวอีกครั้ง หลังจากเมื่อช่วงต้นเดือน ประเทศจีน เริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญ



          นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่จีนล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญ ทำให้เกิดปัญหา Supply shortage โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์และสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในเดือนหน้า หลังประเทศจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญ



          สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย ยังส่งสัญญาณบวกต่อเนื่อง โดย สศอ. ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ พบว่า



-ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า



-อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว



-ความเชื่อมั่นทางภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น



-ปัจจัยต่างประเทศ ยังคงส่งสัญญาณปกติจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังเติบโตได้ แต่ต้องจับตาดูสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ยังคงเพิ่มสูง



-สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ



          สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนพ.ค.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่



-น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.06 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เป็นหลัก หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั้งทางบกและทางอากาศ โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งการเดินทางในประเทศและต่างประเทศ



-ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.29 จากผลิตภัณฑ์ Integrated Circuit และ PWB เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังขยายตัวต่อเนื่อง



-เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.73 จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ดและยาน้ำ เป็นหลัก เนื่องจาก ผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตชั่วคราวในปีก่อน และในปีนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้น



-ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.24 จากผลิตภัณฑ์ยางแท่งเป็นหลัก เนื่องจากมีความต้องการสูงในตลาดโลก ประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ยุโรป สหรัฐฯ และสิงคโปร์ มีความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาการขนส่งเริ่มคลี่คลาย



-เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.93 จากผลิตภัณฑ์จี้ สร้อย และกำไล เป็นหลัก เนื่องจาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในหลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ทำให้ตลาดส่งออกสำคัญกลับมามีคำสั่งซื้อสินค้าอีกครั้ง





 



#ดัชนีMPI



CR:กระทรวงอุตสาหกรรม



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X