กรมวิทย์ฯแถลง พบโอไมครอน BA.4-BA.5 ในไทยเพิ่มขึ้น 181 คน แพร่ระบาดเร็ว 1.5 เท่า

24 มิถุนายน 2565, 12:39น.


          สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจ พบการติดเชื้อรวม 181 คน แบ่งเป็น ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย 48 คน ติดเชื้อในประเทศ 133 คน ส่วนใหญ่พบผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสุ่มตัวอย่างมาตรวจมากที่สุด



          ขณะที่สัดส่วนการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ ร้อยละ 53.8 ยังคงเป็นเชื้อโอไมครอน BA.2 รองลงมา คือ BA.4/BA.5 ร้อยละ 45.8 และร้อยละ 0.5 เป็นเชื้อโอโมครอน BA.1



          โดยประเทศไทยยังคงต้องจับตาอีก 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้ รวมถึงจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลด้วย ซึ่งจะร่วมมือกับกรมการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนักเข้ารักษาในโรงพยาบาลขอให้ส่งตัวอย่างเชื้อมาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากต่อจากนี้มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญก็อาจจะต้องทำให้มีการพิจารณามาตรการบางอย่างที่เข้มขึ้น





          ส่วนข้อมูลก่อนหน้านี้ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อ BA.4 และ BA.5  จำนวน 81 คน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า เป็นข้อมูลที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานเข้าสู่ระบบฐานกลาง GISAID (จีเซท) 



          อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า ไม่มีการปกปิดข้อมูลการรายงาน  ยังคงรายงานผลการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่อระบบฐานข้อมูลกลาง หรือ จีเซท โดยไทยยังคงมีวิธีการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่มี ทั้งตรวจแบบเร็วภายใน 1 วัน ยังคงตรวจอยู่ภายในศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ถึงแม้จะมีการลดจำนวนตัวอย่างลง และอีกวิธี ที่มีการทำอย่างต่อเนื่อง คือการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์โดยตรวจตัวอย่างประมาณ สัปดาห์ละ 500-600 ตัวอย่าง





          ขณะนี้ ทั่วโลกมีสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลเพียงสายพันธุ์เดียว คือ โอไมครอน ส่วนสายพันธุ์อื่นแทบไม่มีแล้ว ที่น่าห่วงกังวล ในตำแหน่งของ BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง L452R เหมือนกัน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เชื้อเดลตาเคยกลายพันธุ์มาก่อน จากข้อมูลผลวิจัยจากห้องปฏิบัติการพบว่า เชื้อ BA.4 และ BA.5 ทำลายปอดและมีอาการปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น แต่ทางข้อมูลทางคลินิกยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ



          ส่วนสายพันธุ์ดังกล่าว จะมีความรุนแรงเหมือนเชื้อเดลตาหรือไม่ ขณะนี้ยังเป็นข้อสันนิษฐานอยู่ ทำให้องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศถึงสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามองหลังในหลายประเทศพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า BA.5 น่าจับตาใกล้ชิดกว่า โดยขณะนี้พบใน 62 ประเทศ ซึ่งสถานการณ์ภาพรวมพบเพิ่มขึ้นอีกไม่นาน BA.5 จะเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดไปทั่วโลก ส่วน BA.4 พบใน 58 ประเทศ  ส่วน BA 2.1.2.1 พบ 69 ประเทศ 





         โดยในหลายประเทศ พบการเพิ่มจำนวนของ BA.5 เพิ่มขึ้น ส่วน BA.4 และ BA.2.1.2 มีแนวโน้มลดลง ส่วนอัตราการแพร่เร็วของสายพันธุ์ BA. 4 และ BA.5 ข้อมูลที่มีในปัจจุบัน พบชัดเจนว่าสายพันธุ์ดังกล่าวแพร่เร็วกว่าเดิม ประมาณ 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับ BA.2 เป็นการพบในห้องปฏิบัติการ โดยพบอีกว่า แอนติบอดีทำลายเชื้อ BA. 4 และ BA.5 ได้น้อยลง ส่งผลทำให้ยารักษาบางชนิด ที่ต้องตอบสนองกับยาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยลงไปด้วย



          สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ อาจจะติดเชื้อซ้ำสายพันธุ์ BA .4 และ BA.5 ได้ แต่หากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นก็จะทำให้ร่างกายมีภูมิสู้กับเชื้อได้ดี อย่าตื่นตระหนกและกังวลจนเกินไป เพราะกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งข้อมูลในสหราชอาณาจักร ที่ได้รายงานบนฐานข้อมูลกลาง พบว่า BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วกว่า BA.2 จริง เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกา 



          ส่วนการผ่อนคลายสวมหน้ากากอนามัยที่วันนี้เป็นวันแรกอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ย้ำว่า การใส่หน้ากากอนามัยยังคงมีความจำเป็นอยู่ในสถานการณ์ที่มีคนแออัดคนเยอะ



 



 



#โควิดไทย



#โอไมครอน

ข่าวทั้งหมด

X