การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค นาย ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง หรือ กปน. เปิดเผยว่า ในพื้นที่การประปานครหลวงที่รับผิดชอบอยู่ขณะนี้ยังไม่ประสบปัญหาภัยแล้งหรือภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยยืนยันว่าน้ำจะมีเพียงพอตลอดปี เว้นแต่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบที่ทราบมาว่าประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งกองทัพบกก็ได้ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาคนำรถน้ำเคลื่อนที่ไปแจกจ่ายน้ำ โดยขณะนี้การประปาได้เปิดศูนย์บริการคุณภาพน้ำและตั้งจุดเฝ้าระวังน้ำกว่า 50 จุดเพื่อคอยดูปริมาณความขุ่นน้ำและปริมาณคลอรีนในน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำประปาจะมีประสิทธิภาพต่อประชาชนในการอุปโภคบริโภค ส่วนปัญหาน้ำเค็มขณะนี้ ก็มีการนำน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่มีน้ำอยู่รวมกัน 4500 ล้านลูกบาศก์เมตรมาระบายผลักดันน้ำเค็มกว่าวันละ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้ก็พบว่าปัญหาน้ำเค็มไม่น่ากังวล เนื่องจากผ่านจุดวิกฤตที่มีน้ำเค็มสูงสุดเมื่อวันที่ 21-25 มกราคม 2558 มาแล้ว นอกจากนี้ได้จัดตั้งศูนย์ดูแลน้ำเค็มร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อตรวจสอบสภาพน้ำเป็นระยะ ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่พอใจ อย่างไรก็ดีปีนี้ได้ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยที่ให้ติดตามสถานการณ์น้ำโดยขอความร่วมมือเกษตรกรงดการทำนาปรัง ซี่งช่วยประหยัดน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคได้มากขึ้น
ขณะที่นาย พูลสิน ศรีสังคม ผู้ประสานงานแผนสนับสนุนโครงการขนาดเล็กกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ระบุถึงสถานการณ์น้ำของโลกว่าแม้น้ำจะมีพื้นที่ 3 ใน 4 ของโลก แต่มีน้ำจืดซึ่งเหมาะกับการอุปโภคบริโภคเพียงร้อยละ2.5 ของน้ำทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นน้ำแข็งขั้วโลกและอยู่ในชั้นใต้ดิน มีเพียงร้อยละ0.3 เท่านั้นที่อยู่ตามแหล่งน้ำในโลกที่สามารถดื่มได้ นอกจากนี้ระบุด้วยว่าประชาชนหนึ่งคนมีความต้องการใช้น้ำราว 4 ลิตรต่อวันและปัจจุบันมีกว่า 80 ประเทศทั่วโลกเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำที่สะอาดซึ่งรวมถึงประเทศไทย และภายใน 25 ปีข้างหน้าประชาชนกว่าครึ่งโลกจะขาดแคลนน้ำที่สะอาดในการอุปโภคบริโภคด้วย ซึ่งปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นเรื่องที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นดีพีเป็นกังวลมากที่สุดด้วย