นายหลิว อี้เฟย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กเซี่ยงไฮ้ (New York University Shanghai) นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน แสดงความกังวลว่า บุคลากรทางการแพทย์จีน จัดโครงการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ใช้ก้านพลาสติกหุ้มสำลีแหย่เข้าทางจมูก หรือช่องคอให้กับประชาชนหลายล้านคนที่เข้ารับการตรวจโรคทุกๆ 2-3 วันในพื้นที่เฝ้าระวัง เช่น กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองเซินเจิ้น เมืองเทียนจินและอีกหลายเมือง ส่งผลให้ถังขยะต่างๆเต็มไปด้วยขยะอันตราย เช่น ชุดตรวจโรคใช้แล้ว หน้ากากอนามัยและชุดตรวจป้องกันโรคที่ใช้แล้วอีกจำนวนมาก จนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและทำให้รัฐบาลท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้จ่ายในโครงการกำจัดขยะพิษ
ด้านเจ้าหน้าที่นครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า มีขยะทางการแพทย์ราว 68,500 ตัน ระหว่างการล็อกดาวน์เมื่อเร็วๆนี้ นับเป็นปริมาณขยะที่สูงกว่าขยะเฉลี่ยต่อวัน 6 เท่า ภายใต้กฎระเบียบการบริหารของจีน รัฐบาลท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดการเรื่องขยะ เช่น การคัดแยก การฆ่าเชื้อโรค การขนส่งและการจัดเก็บ ก่อนนำไปกำจัดในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งโดยมากใช้วิธีการเผาขยะ แต่ระบบกำจัดขยะจำนวนมากเช่นนี้เพิ่มภาระให้กับรัฐบาลท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลในพื้นที่ห่างไกล มีงบประมาณและบุคลากรไม่มาก
นายเบนจามิน สเตอร์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า การที่ขยะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอาจจะทำให้รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งในประเทศจีน กำจัดขยะไม่ถูกวิธี เช่น ฝังกลบในบริเวณหลุมทิ้งขยะ สำหรับขยะพิษต่างๆ ถ้าไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี อาจจะทำให้ดินและแม่น้ำลำคลองในท้องถิ่นปนเปื้อน เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของประชาชนในระยะยาว
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ คาดว่า ปริมาณขยะทางการแพทย์จะยังคงสูงเช่นนี้ต่อไปตราบเท่าที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีนยังคงจัดโครงการตรวจคัดกรองโรค ตามนโยบายลดโรคเหลือ 0 ของประเทศจีน ซึ่งมีประชากร 1.4 พันล้านคน มากที่สุดในโลก
#จีน
#ตรวจคัดกรองโควิด
#ขยะโควิด