การวิเคราะห์สถานการณ์หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) พร้อมทั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 มาที่ร้อยละ1.50-1.75 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 8.6 สูงสุดในรอบ 40 ปี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การตัดสินใจเป็นไปตามความคาดหมาย ตลาดหุ้นสหรัฐฯดีขึ้นเล็กน้อย ปรับตัวไม่เหวี่ยงมากนัก ค่าเงินสหรัฐฯ อ่อนลงนิด เนื่องจาก ตลาดได้รับข่าวไปมากแล้ว
Dow Jones +303.7 จุด หรือ +1%
Nasdaq +270.8 จุด หรือ +2.5%
US 2Y Bond -0.24%
US 10Y Bond -0.19%
USD index ลดลง -0.654 มาที่ 104.864
Bitcoin เท่าๆ เดิม ก่อนที่ปรับดีขึ้นในช่วงเช้านี้
พูดง่ายๆ แม้ว่าจะขึ้นแรงที่ 0.75% แต่ตลาดได้รับข่าวไปมากแล้ว และความจริงดูจากการปรับตัวของดอกเบี้ยพันธบัตรในตลาด ผลการประชุมที่ออกมา ใช้ยาแรงน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ประมาณ 0.25%
แต่ที่น่าสนใจที่สุด ก็คือ เสียงและสำเนียงต่างๆ ในการถามตอบกับนักข่าว 17 ข้อ ด้านนักข่าว เข้มขึ้น รุนแรงขึ้น ถามกดดันมากขึ้น สีหน้าไม่ค่อยเชื่อถือมากขึ้น ทำให้ประธานเฟด ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองพูด พูดหลบไปมา กว้างๆ ไม่ฟันธงเหมือนก่อนหน้า และโทษสิ่งอื่นๆ ที่เฟดไม่สามารถควบคุมได้
ที่สำคัญที่สุด ประธานเฟด สารภาพว่า "โอกาสหรือ Path to soft landing" ได้แคบลงและยากขึ้นมาก แต่บอกว่า เฟดจะพยายามให้ดีที่สุด แต่ทุกอย่างขึ้นกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลก ที่เฟดควบคุมไม่ได้ อาจจะมีสิ่งที่ทำให้โอกาส soft landing ดังกล่าว out of our hands กระทั่งในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป ก็ไม่กล้าฟันธงว่าจะเอาอะไร เหมือนครั้งก่อนที่กล้าพูดว่า "ไม่มี 0.75% และจะขึ้น 0.5% อีก 2-3 ครั้ง"
ในรอบนี้ บอกแบบ save ตนเองเพียงว่า "ครั้งหน้าอาจจะ 0.5% หรือ 0.75% ขึ้นกับข้อมูลที่ออกมา" แต่ไม่คิดว่าการขึ้นครั้งละ 0.75% จะเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดเป็นประจำ ทั้งนี้ หากเราดูเร็วๆ จาก Dot Plot การที่ดอกเบี้ยจะไปจบที่ 3.4% ปีนี้
เมื่อนับจากระดับล่าสุดดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดที่ 1.5%-1.75% หมายความว่า เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยไปอีก 1.75% ในการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้ง โดยขึ้น 0.5% อีก 3 ครั้ง และจบลงด้วย 0.25% ตอนการประชุมงวดสุดท้ายของปี
สำหรับ highlight จริงๆ ที่ถูกถามถึง ก็คือ ตัวเลขการว่างงานที่เฟดประมาณการณ์ไว้ว่า
-ปีนี้ อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ 3.7%
-ปีหน้า จะเพิ่มเป็น 3.9%
-ปีถัดไป จะเป็น 4.1%
ทำให้นักข่าวหลายคน เจาะถามว่า "เฟดตั้งใจจะทำให้คนตกงานใช่ไหม" และเฟดจะทำให้เกิด Recession เพื่อควบคุมเงินเฟ้อใช่ไหม ซึ่งประธานเฟด ก็ตอบว่า แม้คนจะตกงานเพิ่มขึ้น แต่ 4.1% ก็ถือว่าต่ำมากมาก เมื่อเทียบกับปกติของสหรัฐฯ
ซึ่งตรงนี้ เมื่อไปดูข้อมูลประกอบจะพบว่า กรรมการบางคนคิดว่า อัตราการว่างงานปีหน้าอาจจะขึ้นไปสูงถึง 4.2-4.5% ด้วยซ้ำไป
สำหรับคำถามอื่นๆ ที่ถามนั้น ขอตัดเอามาให้ฟังเป็นตัวอย่าง
- ครั้งที่แล้วท่านบอกว่าจะขึ้น 0.5% ในเดือนมิถุนายนและกรกฏาคม ทำไมจึงเปลี่ยนใจครั้งนี้
- ขึ้น 0.75% ดีกว่าขึ้น 0.5% อย่างไร และจะขึ้น 1.0% ในอนาคตหรือไม่
- ดอกเบี้ยที่เฟดจะขึ้นไปจนแตะ 3.8% ช่วงปีหน้า จะสูงพอที่จะเอาเงินเฟ้ออยู่หรือไม่ (ประธานเฟดตอบว่า 3.5-4.0% น่าจะพอ และก็บอกว่า เราจะรู้ว่าพอเปล่า เมื่อเราไปถึงจุดนั้น !!!)
- มีอะไรในข้อมูลเศรษฐกิจ และการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ต่างไปจากเดิม จนท่านต้องยอมเสียชื่อ และความมั่นใจของตลาด โดยกลับคำพูดว่าไม่มี 0.75%
และเมื่อถูกถามกดดันต่อว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในข้อมูลอีกรอบ ก็จะหมายความว่า ท่านอาจจะขึ้น 0.75% หรือ 1.0% ในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งประธานเฟด ก็บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ทุกอย่างจะขึ้นกับข้อมูล โดยไม่ฟันธงอะไรทั้งสิ้น
-ถ้าข้อมูลออกมาอีกด้าน ท่านจะลดอัตราการขึ้นดอกเบี้ยได้ใช่หรือไม่ ซึ่งท่านก็บอกว่า เฟดจะดูจนกระทั่งเงินเฟ้อลดลงมา ต่อเนื่องหลายเดือน ก็จะถือว่า เริ่มได้ผล และจะคิดเรื่องการลดการขึ้นดอกเบี้ย และสุดท้ายเงินเฟ้อก็ต้องลงมา
ประธานเฟด ย้ำว่า "Worst mistake is to fail" ในการควบคุมเงินเฟ้อ หมายความว่า ต่อให้พลาดทำให้เศรษฐกิจถดถอยก็รับได้
นอกจากนี้ ประธานเฟด เริ่มโทษสงครามรัสเซีย ยูเครน เริ่มโทษจีนที่ปิดเมือง เริ่มโทษสิ่งต่างๆ ราคาน้ำมัน ราคาอาหารที่ไม่สามารถคุมได้ และกำลังทำให้อาจจะไม่สามารถ soft landing จากเดิมที่บอกว่า เอาเงินเฟ้ออยู่ และน่าจะ soft landing ได้
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือ สีหน้า ท่าทางของประธานเฟด เวลาตอบ และสีหน้า ท่าทางของนักข่าว เวลาได้ยินคำตอบ
#ประธานเฟด
CR:กอบศักดิ์ ภูตระกูล