นายวิลเฟร็ด วัน ผู้อำนวยการโครงการอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งกรุงสตอกโฮล์ม (SIPRI) สวีเดน ศึกษาเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ทั่วโลก เปิดเผยผลการวิจัยเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ประจำปี 2565 ว่า การแข่งขันสะสมหัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับแต่ยุคสงครามเย็น มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่ชาติมหาอำนาจด้านอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมี 9 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯและรัสเซีย จะนำอาวุธนิวเคลียร์มาสู้รบ หลังรัสเซียรุกรานยูเครน ขณะที่สหรัฐฯและกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ให้การสนับสนุนยูเครน ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมาอย่างต่อเนื่อง
SIPRI กล่าวถึง สถานการณ์ด้านอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก เมื่อเดือน ม.ค.65 หัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกลดลงมาที่ 12,705 ลูก จากเดิม 13,080 ลูก เมื่อเทียบจากเดือนม.ค.ปีที่แล้ว โดยเฉพาะรัสเซีย มีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก คือ ประมาณ 5,977 ลูก มากกว่าสหรัฐฯราว 550 ลูก ทั้งสองประเทศมีหัวรบนิวเคลียร์กว่าร้อยละ 90 ของหัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลก ขณะเดียวกัน ประเทศจีนมีหัวรบนิวเคลียร์กว่า 300 ลูก และอยู่ระหว่างการขยายคลังหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มเติม
SIPRI ระบุถึงความเสี่ยงจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อสู้รบในยูเครนว่า มีความเสี่ยงสูงกว่าแต่ก่อน และเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นกังวลมาก โดยเฉพาะรัสเซีย หลังบุกยูเครน 3 วัน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย สั่งการให้กองกำลังด้านอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ถ้าหากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต) ซึ่งมีสหรัฐฯเป็นแกนนำ ส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยยูเครนสู้รบกับรัสเซีย นายปูติน เตือนว่า ทุกคนจะเห็นความเสียหายอย่างชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศ ถ้าหากพวกเขาขัดขวางปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน
ด้านนายสเตฟาน ลอฟเวน อดีตนายกรัฐมนตรีสวีเดน หนึ่งในคณะกรรมการของ SIPRI กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ของโลกแย่ลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มนุษยชาติ และทั่วโลกเผชิญกับปัญหาเร่งด่วนอื่นๆหลายเรื่อง เช่น เรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งจำเป็นต้องประสานความร่วมมือระดับนานาชาติ การแก้ไขปัญหาจึงจะประสบความสำเร็จ
#สวีเดน
#อาวุธนิวเคลียร์
#สถานการณ์ยูเครน