ผู้ว่าฯธปท.ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย ศก.ไทยต้องสร้างภูมิคุ้มกัน 5 ด้าน

13 มิถุนายน 2565, 11:58น.


          ความเหมาะสมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จำเป็นต้องขึ้นกับบริบทของประเทศเราเป็นสำคัญ และคงไม่ใช่การปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตามทิศทางของธนาคารกลางประเทศหลักๆ เนื่องจากบริบทของไทย แตกต่างจากประเทศอื่นๆ เงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มขึ้นมาจากฝั่งอุปสงค์เป็นหลัก ไม่ใช่จากฝั่งอุปทาน ไม่ควรต้องตามต่างชาติ ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย ก็ไม่จำเป็นว่าเราต้องขึ้นตาม เราต้องดูบริบทของเรา ส่วนกรณีที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย แล้วเราไม่ขึ้น อาจกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของเราไม่มีปัญหา เงินทุนเคลื่อนย้ายก็ไม่ได้ไหลออก สิ่งที่เราต้องดู คือเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพทางการเงิน



          ผู้ว่าฯ ธปท.มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะต้องไม่ขึ้นช้าจนเกินไป เพราะถ้าขึ้นช้าเกินไปจะไม่ดี ที่ผ่านมา ไทยใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนมาก และเป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อเทียบกับภูมิภาคแล้ว ดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำสุดในภูมิภาค ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงติดอันดับในภูมิภาค เพราะถ้าปล่อยไว้นานเกินไป ปล่อยให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด ถ้าขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป โอกาสที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นก็จะตามมา ซึ่งเป็นอะไรที่เราไม่อยากเห็น หรือปรับขึ้นเร็วไปก็ไม่ได้ หลังเกิดเหตุยูเครน รัสเซีย เราก็ได้เห็นเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นจนเกินเป้า ซึ่งจะไปถึงจุดพีคในไตรมาส 3 ปีนี้ ทำให้เรื่องเงินเฟ้อเป็นโจทย์สำคัญมากต่อภาวะเศรษฐกิจนี้



           การขึ้นดอกเบี้ยแม้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนก็ต้องดูแล แต่ถ้าไม่ทำอะไร ผลกระทบต่อประชาชนจะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตของเขาจะเพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่างกันถึงประมาณ 7 เท่าตัว           



          ส่วนปัจจัยเศรษฐกิจตอนนี้ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ยังมีความไม่แน่นอน (Uncertainty) ทำให้เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องสร้างกันชน ภูมิคุ้มกัน ทางเศรษฐกิจ 5 ด้าน ได้แก่



-เสถียรภาพต่างประเทศ ทุนสำรองประเทศยังสูง ทุนไหลออกไม่ใช่เรื่องน่ากังวล



-เสถียรภาพการคลัง หนี้สาธารณะ จุดนี้ยังไม่ใช่เรื่องน่ากังวล



-เสถียรภาพการเงิน



-เสถียรภาพราคา



-กลไกการดำเนินนโยบายที่ดี



           ปีนี้เศรษฐกิจโต 3.3% และปีหน้า 4.2% เศรษฐกิจไทย กระทบหนักกว่า การฟื้นตัวก็ช้ากว่าชาวบ้าน เนื่องจาก ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว แม้ตัวเลขจะฟื้นตัว แต่หากถามคนทั่วไปคนก็ไม่รู้สึก เพราะรายได้ที่เข้ามาไม่เหมือนเดิม แต่ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะหมวดพลังงาน แล้วขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นโจทย์ของนโยบายยังไม่เปลี่ยน คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เศรษฐกิจโตไปได้ต่อเนื่อง กลับกันหากไม่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อ การมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากอาจไม่จำเป็นเหมือนในอดีต ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)กังวลกระทบเรื่องปากท้อง การท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น กลไกการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจเข้ามาช่วยในจุดนี้ได้บางส่วน



 



#ผู้ว่าแบงค์ชาติ



#ดอกเบี้ยนโยบาย



แฟ้มภาพ  

ข่าวทั้งหมด

X