ประธาน FETCO ระบุปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯรุนแรง จับตาเฟดออกมาตรการควบคุม

11 มิถุนายน 2565, 09:06น.


          ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯที่ปรับลดลงในเดือนก่อนหน้า กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เงินเฟ้อโดยรวมเพิ่มขึ้น +0.97% เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น +0.63% ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดในการกำหนดนโยบาย เพราะเป็นที่ชัดเจนว่า ปัญหาเงินเฟ้อยังมีความรุนแรงมาก โดยต้องจับตาว่า ในสัปดาห์หน้า เฟดจะมีการตัดสินใจอย่างไร โดยก่อนหน้านี้ เฟดระบุว่า จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0.5% อีก 2-3 ครั้ง ขณะเดียวกันดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 2 ปี ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.95% ใกล้ระดับที่จะสูงสุดในรอบ 14 ปี แล้ว



          โดยในเฟซบุ๊กระบุว่า



          “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว !!!



ข้อมูลเงินเฟ้อที่ออกมาเมื่อคืนนี้ ได้เปลี่ยนมุมมองของหลายๆ คน



หลังข้อมูลดังกล่าวออกมา



ดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐ 2 ปี พุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี



ปรับตัว +0.25% ใน 1 วันที่ผ่านมา



สะท้อนความคาดการณ์ของนักลงทุนว่า



ถ้าเงินเฟ้อเป็นอย่างนี้ ไม่ยอมลงมา



แถมดูเหมือนจะดื้อยา เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยด้วยซ้ำไป



สุดท้าย คุณหมอเฟดคงต้องเพิ่มขนาดยาให้แรงขึ้นไปอีกนิดด้วย



จากเดิมที่จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ไปอีก 2 ครั้ง



ตอนนี้เริ่มคิดว่า คงต้องเป็นอย่างน้อยอีก 3 ครั้ง



ส่วนนักลงทุนในตลาดหุ้น ก็เตรียมหลบภัยเช่นกัน



Dow Jones ลดลง 2 วัน -1,518 จุด หรือ -4.61%



ทำให้ที่ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายพฤษภาคม ได้เกือบจะกลับไปที่เดิมแล้ว



รับกับดัชนี NASDAQ ที่ลดลง -6.17%



S&P500 ที่ลดลง -5.22% และเป็นสัปดาห์ลดมากสุดในรอบหลายๆ เดือน



ส่วนค่าเงินสหรัฐที่อ่อนลงไปช่วงหนึ่ง เริ่มกลับแข็งค่ามาที่ 104.2 อีกรอบ



จากลงไปแตะ 101.3 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม หลัง ECB ออกมาส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยบ้าง



หรือขึ้นเกือบ 3% ในช่วงสั้นๆ เพียงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา



กระทบค่าเงินสกุลต่างๆ เช่น เงินเยนที่ตอนนี้อยู่ที่ 134.4 เยน/ดอลลาร์



อ่อนลง -5.5% จาก 127.1 เยน/ดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกัน



ท้ายสุด ราคาทองคำที่ลดลงไปที่ 1,800 ตอนนี้เพิ่มชั่วคราวมาอยู่ที่ 1,875 ดอลลาร์/ออนซ์



ทั้งหมดนี้ มาจากมุมมองของตลาดที่เปลี่ยนไปมาระหว่าง 1 เดือน เกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐ



จากที่เคยคิดว่า "น่าจะเอาอยู่" เปลี่ยนไปเป็น "ยังเอาไม่อยู่"



Inflation is alive and well !



พร้อมจะกลับมา



ยิ่งเมื่อเมืองจีนเริ่มเปิดเมือง สงครามเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับสหรัฐและพันธมิตร ยังคงเดินหน้าด้วยมาตรการ Sanctions ใหม่ๆ ล่าสุด ประกาศจะลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 90% ในช่วงปลายปีนี้



ราคาน้ำมันโลกที่เคยนิ่งๆ อยู่ระหว่าง 100-110 ดอลลาร์/บาเรล เป็นประมาณ 120-125 ดอลลาร์/บาเรล



กดดันให้เงินเฟ้อเพิ่ม และอยู่ยาวนานขึ้น



ตลาดจึงเริ่มปรับมุมมอง ปรับตัวอีกครั้ง



แล้วมารอลุ้นกันว่า เฟดจะทำอะไรในการประชุม ในสัปดาห์หน้า



จะมีอะไรมา surprise หรือไม่



แต่ที่ลุ้นยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ลุ้นว่า ท่านประธานเฟดจะพูดอะไร !!!



เพราะทุกครั้ง ผลประชุมเป็นไปตามคาด แต่ท่านประธานเฟดมักจะพูดเพิ่ม เติมประเด็นให้คิดอยู่เสมอๆ จนตลาดเหวี่ยงไปมา



ท้ายสุด หลายคนฝากถามว่า "แล้วเราควรจะคิดเรื่องนี้อย่างไร"



ในประเด็นนี้ อยากให้มองข้ามปัจจัยระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นสัปดาห์ต่อสัปดาห์



แล้วมองในภาพรวมว่า "นี่คือสงครามของเฟดกับเงินเฟ้อ"



สงครามนี้ คงยืดเยื้อ ใช้เวลา



เพราะเป้าหมายของเฟดไม่ใช่ เงินเฟ้อไม่ขึ้นต่อ หรือ เงินเฟ้อเริ่มลง



เพราะเรื่องนั้น เป็นเพียงชัยชนะเบื้องต้นเท่านั้น



แต่ชัยชนะที่แท้จริง



ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของเฟด ก็คือ "เงินเฟ้อต้องลงมาที่ 2.0%"



ยิ่งเงินเฟ้อขึ้นไปสูง และอยู่สูงนานๆ เงินเฟ้อก็จะไม่ลดลงสู่เป้าหมายง่าย



ต่อให้ลง ก็จะค้างอยู่ที่ประมาณ 3-4% ไประยะ



ทำให้เฟดยังแพ้สงครามกับเงินเฟ้ออยู่



ท้ายสุดต้องใส่ยาเพิ่ม ขึ้นดอกเบี้ยไป จนเงินเฟ้อสยบ



ความผันผวนส่วนหนึ่งจึงมาจาก ความพยายามของตลาดที่จะเดาว่า



สงครามครั้งนี้ จะจบยัง ?



ดอกเบี้ยขึ้นแค่นี้ น่าจะพอแล้ว ใช่หรือไม่



จะได้เริ่ม Party รอบใหม่ กันเสียที



เพราะที่ลดลงมา ก็ดูน่าสนใจมาก



ขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากเจ็บตัวเพิ่ม หากตลาดจะลงต่ออีก



ทำให้ละล้าละลัง ว่าจะเข้าดีหรือไม่



หรือจะรอก่อน



ทุกคนจึงอ่อนไหวต่อข่าวต่างๆ ที่ออกมา



นำมาซึ่งความปั่นป่วนของตลาด ที่จะอยู่กับเราไปอีกระยะ



โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สงครามกับเงินเฟ้อยังไม่ชัดเจนว่าจะจบ



หมายความต่อไปว่า ปีนี้ลงทุนไม่ง่าย



อะไรๆ ก็เกิดได้ เหวี่ยงไปมา เพียงเพราะจากตัวเลขหนึ่งตัวที่ประกาศ จากลมปากที่พูดออกมา และจากการตัดสินใจของธนาคารกลางต่างๆ



โดยราคาสินทรัพย์ต่างๆ พร้อมทดสอบ New low หรือ New high



สมกับเป็น Economic Turbulence 2022 !!!



ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน รักเงินต้นให้มากมากในช่วงนี้ ครับ”



....



#เงินเฟ้อสหรัฐ

ข่าวทั้งหมด

X