ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์จุดยืนของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น โดยระบุว่า ประกาศยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยเฉพาะกัญชา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย. พ.ศ.2565 จะส่งผลให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทยรวมถึงกลุ่มเปราะบาง คือ เด็กและวัยรุ่น สามารถเข้าถึงกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จากการบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา รวมถึงการนำกัญชา ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้เสพติดมาใช้เพื่อนันทนาการ
ในพืชกัญชามีสารแคนนาบินอยด์ หลายชนิด แบ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่สำคัญ ได้แก่ THC และสารไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่สำคัญ ได้แก่ แคนนาบินอยด์ หรือ CBD ซึ่งในทางการแพทย์มีการนำมาใช้รักษาโรคลมชักชนิดดื้อยากันชัก สำหรับ THC มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์เช่นกัน เช่น ในการรักษาประคับประคองของมะเร็งระยะสุดท้าย แต่หากมีการนำกัญชาหรือสารสกัดกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร หรือการแปรรูปต่างๆ หรือให้มีการใช้กัญชาได้อย่างเสรีโดยไม่มีกฎหมายควบคุม ประชาชนก็จะมีโอกาสได้รับสารแคนนาบินอยด์เหล่านั้น เข้าไปจนอาจจะมีผลกระทบที่รุนแรง โดยเฉพาะอาจส่งผลต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง และส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท เสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
ที่สำคัญ เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปีไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ และกัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อสมองเด็กในระยะยาว ดังนั้นเด็กจึงไม่ควรได้รับ THC ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์เช่น ประกอบการรักษาประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคลมชักรักษายาก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
เตือนใจ พิษกัญชา จาก น้ำพุ
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Benya Nandakwang หรือคุณเบญญา นันทขว้าง น้องสาวแท้ ๆ “น้ำพุ วงศ์เมือง นันทขว้าง” โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “น้ำพุ พี่ชายฉันที่เสียชีวิตไป ก็เริ่มจากกัญชานี่ละค่ะ ไม่จำเป็นก็อย่าลองจะดีที่สุด” พร้อมแนบรูปภาพในอดีต
สำหรับน้ำพุ เป็นชื่อเล่นของวงศ์เมือง นันทขว้าง เป็นบุตรของ สุวรรณี สุคนธา นักเขียนและนักประพันธ์น้ำพุมีความสนใจในด้านศิลปะ จึงขออนุญาตมารดาเข้าศึกษาต่อด้านศิลปะที่โรงเรียนช่างศิลป์ และได้เพื่อนสนิทใหม่จนชักชวนกันเสพยาเสพติด โดยเริ่มจากกัญชา น้ำพุ เสพยาหนักขึ้นจนทำให้ทั้งคู่ต้องหยุดเรียนไปเข้ารับการบำบัดเลิกยาเสพติด ที่สำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก จ.สระบุรี กระทั่งท้ายที่สุดเจ้าตัวก็ต้องมาเสียชีวิต เพราะเสพเฮโรอีนเกินขนาดเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2517 ด้วยวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น ชีวิตของน้ำพุ กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ในปี 2527 โดยอำพล ลำพูน รับบทเป็น น้ำพุ