นางมาเรีย ฟาน เคิร์คโฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก(WHO)เปิดเผยว่า คณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ 27 คนขององค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ศึกษาเรื่องต้นตอของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว เผยแพร่ผลการศึกษาในวันนี้ ระบุว่า การสอบสวนเรื่องต้นตอของโรคโควิด-19 ของคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของ WHO ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากไม่มีข้อมูลจากจีนในเรื่องต้นตอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 นับเป็นปัญหาล่าสุดต่อความพยายามของทีมนักวิจัยของ WHO ในการสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อสรุป โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดอย่างไร
คณะที่ปรึกษาของ WHO ยอมรับข้อบกพร่องอีกอย่างหนึ่งคือ ปล่อยให้ระยะเวลาผ่านไปนานหลายปี กว่าจะสอบสวนต้นตอของโรค แทนที่จะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ไปสอบสวนทันที หลังพบการระบาดใหม่ๆในเมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งยิ่งสอบสอบสวนล่าช้า หลักฐานต่างๆก็ยิ่งเลือนหายไปด้วย แต่จากข้อมูลทั้งหมดที่ทราบแสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 อาจจะแพร่สู่คนจากสัตว์ ซึ่งเป็นพาหะนำโรค เช่น ค้างคาว ซึ่งคล้ายกับผลสรุปของคณะผู้เชี่ยวชาญอีกคณะหนึ่งของ WHO ซึ่งเผยแพร่รายงานเรื่องนี้ในปีที่แล้วหลังการไปเยือนประเทศจีน
ส่วนข้อมูลขาดหายไป ทำให้การสอบสวนเรื่องนี้ไม่สมบูรณ์คือ ข้อมูลจากประเทศจีน ซึ่งพบผู้ป่วยรายแรกๆในเดือนธันวาคม 2562 ทำให้คณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO ไม่อาจจะสรุปการสอบสวนอย่างชัดเจนว่า เชื้อไวรัสเริ่มแพร่จากสัตว์มาสู่คนครั้งแรกเมื่อใด เชื้อไวรัสมีลักษณะการระบาดอย่างไร หรือเริ่มระบาดครั้งแรกที่ใด หลายฝ่ายมองว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการปรับปรุงองค์กร WHO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อควบคุมโรคระบาดฉุกเฉิน ที่ผ่านมา WHO ถูกวิจารณ์มาหลายปีในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
รายงานนี้มุ่งเสนอแนะให้ WHO ร่างแผนการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการสอบสวนต้นตอของโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ผ่านมา เรื่องต้นตอของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคร่าชีวิตคน 15 ล้านคนทั่วโลก กลายเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนกับสหรัฐฯ ขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า การศึกษาต้นตอของโรคโควิด-19 มีความสำคัญมากในแง่ของการช่วยให้ WHO และหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกเตรียมพร้อมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
#WHO
#การสอบสวนต้นตอโควิด