การใช้นโยบายการเงินที่เหมาะสมในการดูแลอัตราเงินเฟ้อ หลังจากเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.65 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. และรองประธานกนง. ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า คณะกรรมการแต่ละคนมีความเป็นอิสระ มีความเห็นด้านเศรษฐกิจและการประเมินของตัวเอง โจทย์ใหญ่ในขณะนี้ คือ การจัดการเงินเฟ้อไม่ให้เครื่องติด เพราะถ้าเครื่องติดแล้วจะทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้คนสูงขึ้น จนส่งผลต่อการตั้งราคาและการบริโภค ทำให้ยากในการแก้ไข ดังนั้นต้องคุมให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย เราต้องไม่ให้เครื่องติด ไม่เช่นนั้นราคาก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนที่จะเดือดร้อนก็จะเป็นคนที่มีรายได้น้อยและคนที่มีหนี้สูงก็จะยิ่งเดือดร้อนขึ้นไปอีก ประเมินว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมีผลมากกว่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เพราะดอกเบี้ยเราคงเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่เงินเฟ้อขึ้น 7-8% ซึ่งจะกระทบกลุ่มที่เปราะบางมาก การขึ้นดอกเบี้ย จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เพิ่มภาระที่มากเกินไปสำหรับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งการช่วยลดเงินเฟ้อ เป็นประโยชน์กับคนกลุ่มนี้มากกว่า เนื่องจาก บริโภคสินค้าในภาคครัวเรือนมาก เมื่อเทียบกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
ธปท.ใช้นโยบายการเงิน ในการควบคุมดูแลปริมาณเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลัก ซึ่งจะถูกส่งต่อผ่านภาคสถาบันการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ โดยไม่เกิดทั้งภาวะเงินฝืด และภาวะเงินเฟ้อ หรือ ราคาสินค้าไม่ผันผวนจนเกินไป ประชาชนมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว การตัดสินใจปรับเพิ่ม ลด หรือ คง อัตราดอกเบี้ยนโยบาย กนง.จะดูข้อมูลราคาสินค้าและข้อมูลทางเศรษฐกิจจากภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบกับการพูดคุยกับประชาชนและผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งผลการประชุม กนง. ครั้งล่าสุด ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด
กนง.ยังไม่ประมาท ประมาณการณ์เงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายร้อยละ 2.5 ในปีหน้า ก็ยังถือว่าสูงอยู่ ควรจะปรับดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติมากขึ้น
#นโยบายการเงิน
#คุมเงินเฟ้อ
ข้อมูลและภาพจากธนาคารแห่งประเทศไทย