ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องที่เราทุกคนได้รับผลกระทบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และกระทรวงพลังงาน เข้าใจและเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ Kick off เปิดตัวการใช้งาน ‘Sensor for All’ ‘เครื่องมือวัดคุณภาพอากาศในประเทศไทย’ แบบ Real Time โดยแสดงผลผ่านแอปพลิเคชัน Sensor for All หรือ สามารถตรวจสอบได้ผ่าน sensorforall.com เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศและปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 อุณหภูมิ หรือ การตรวจสอบแนวโน้มการเกิดฝนตกก็สามารถตรวจสอบได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบันประชาชนสามารถโหลดแอปพลิเคชัน Sensor for All ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย รองรับทั้งระบบ IOS และ Andriod ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งานอย่างมากในการตรวจสอบสภาพอากาศ ประชาชนจะสามารถวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันได้
ในขณะนี้ได้มีการติดตั้งเครื่องมือ Sensor for All หรือ จุดตรวจวัดสภาพอากาศแล้วกว่า 500 จุด ทั่วประเทศ แบ่งเป็น
-ภาคเหนือ 15 จังหวัด 45 จุดติดตั้ง
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 60 จุดติดตั้ง
-ภาคกลาง 51 จุดติดตั้ง
-ภาคตะวันออก 22 จุดติดตั้ง
-ภาคใต้ 41 จุดติดตั้ง
-ปริมณฑล 9 จุดติดตั้ง
นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งในกลุ่มห้องเรียนสีเขียว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา การเคหะแห่งชาติ จำนวน 266 จุดและมีจุดติดตั้งจอ Billboard เพื่อแสดงผลอีก 20 จุด แอปพลิเคชัน Sensor for All ได้เชื่อมโยงกับข้อมูลคุณภาพร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ในแอปพลิเคชัน Air4Thai และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในแอปพลิเคชัน Dustboy ทำให้มีข้อมูลแสดงผลใน Sensor for All รวมกว่า 1,200 จุดทั่วประเทศ
การเปิดงานวันนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี ร่วมกับ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเจ้าหน้าที่สำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า ระบบ Sensor for All จะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในการตรวจวัดคุณภาพอากาศเพื่อวางแผนในชีวิตประจำวัน เนื่องจาก ในปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง เครื่องมือนี้จะช่วยเหลือและสนับสนุนในการจัดการปัญหาฝุ่นควัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการศึกษาและประดิษฐ์ Sensor for All จนสามารถนำไปปรับใช้ได้ทั่วประเทศ และกระทรวงพลังงาน จะให้ความร่วมมือในการประสานกับสำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชน ชุมชน และสนับสนุนการใช้ประโยชน์แก่หน่วยงานในภาคบริการต่างๆ เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคสาธารณสุข
ด้านนายบุญญนิตย์ เปิดเผยว่า กฟผ.ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ "EGAT AIR TIME" แผนจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมทางอากาศ เพื่อแก้ปัญหาด้านคุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยลดภาวะโลกร้อน และสนับสนุนเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality
กฟผ.ได้ร่วมเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพอากาศจากเครือข่ายพันธมิตรหลายหน่วยงาน รวมถึงพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชันการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ นวัตกรรมการดูแลคุณภาพอากาศ และศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลและสารสนเทศของคุณภาพอากาศที่ประชาชน ชุมชน และสังคมทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ในอนาคตจะขยายจุดติดตั้งระบบ Sensor for All ทั่วประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาระบบการตรวจสอบคุณภาพอากาศด้านอื่นเพิ่มขึ้น เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน ไนโตรเจนออกไซด์ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน และหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจากแหล่งกำเนิด และประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น การส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
#เครื่องมือวัดคุณภาพอากาศ
#การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย