การประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สนค.ประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 65 ไว้ว่า จะขยายตัวต่อเนื่องจากหลายปัจจัย
-ปัจจัยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละไม่เกิน 35 บาท
-การปรับราคา LPG เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได งวดซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 65 อีก 15 บาทต่อถังขนาด 15 กก.
-แนวโน้มคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 อีก 40 สตางค์
-วิกฤตอาหารในตลาดโลกที่หลายประเทศงดการส่งออกอาหาร ส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศปรับสูงขึ้น
-ปัจจัยจากความต้องการ (อุปสงค์) เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว หลังจากการผ่อนคลายเปิดประเทศ 1 มิ.ย. 65 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากขึ้น และความต้องการในการส่งออกที่เติบโตได้ดี ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สนค.ยังคงยืนยันเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดทั้งปี 65 ไว้ที่ระดับ 4-5% แม้ว่าปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดสมมุติฐานเป้าหมายเงินเฟ้อจะปรับเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% ขณะที่กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่า GDP ปีนี้ น่าจะขยายตัวเพียง 3% เท่านั้น
ส่วนปัจจัยราคาน้ำมันดิบดูไบที่เดิมคำนวณที่ราคาเฉลี่ย 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบระหว่าง 30 พ.ค.-3 มิ.ย. 65 ปรับขึ้นไปเป็น 112 เหรียญ/บาร์เรลแล้ว เช่นเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนที่วางกรอบไว้ 32-34 บาทต่อเหรียญ ซึ่งขณะนี้ได้ปรับอ่อนค่าลงไปกว่านี้แล้วเช่นกัน
ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน พ.ค. 65 สูงขึ้นถึง 7.10% เป็นผลจากหลายปัจจัยดังนี้
-ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานเพิ่ม 37.24% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นถึง 35.89% ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก
-ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้น 8% หลังจากรัฐบาลยกเลิกการตรึงราคา LPG และทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 แบบขั้นบันได
-อัตราค่าไฟฟ้า เพิ่ม 45.43% จากการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 65
-สินค้าหมวดอาหาร เพิ่ม 6.18% โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร, ไก่สด, ไข่ไก่ จากต้นทุนการเลี้ยง
-ผักสด-เครื่องประกอบอาหาร-อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน
-สินค้าอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แชมพู-ยาสีฟัน-สบู่ถูตัว) ราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากสิ้นสุดโปรโมชั่น
-ขณะที่ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน-น้ำยารีดผ้า-น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่-เบียร์-สุรา) ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
*หากพิจารณาลงไปในรายละเอียด พบว่า มีสินค้าสำคัญบางรายการที่ปรับราคาลดลง เช่น กลุ่มข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลด 2.81% โดยเฉพาะราคาข้าวสาร, การศึกษา ลด 0.65% ตามค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ปรับลดลงทุกระดับชั้น, เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เช่น กางเกงขายาวบุรุษ และเสื้อสตรี ลด 0.06% ตามการจัดโปรโมชั่น
เมื่อพิจารณารายการสินค้าทั้งหมดที่นำมาในการคำนวณเงินเฟ้อ 430 รายการในเดือน พ.ค. 65 พบว่า
-สินค้าที่ราคาสูงขึ้น 298 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า, น้ำมันเชื้อเพลิง, เนื้อสุกร, กับข้าวสำเร็จรูป, อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง), ไข่ไก่, อาหารเช้า, ค่าน้ำประปา, ไก่สด เป็นต้น
-สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 54 รายการ เช่น ค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้า, ค่าใบอนุญาตขับขี่, ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี
-สินค้าที่มีราคาลดลง 78 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว, ข้าวสารเจ้า, ขิง, กล้วยหอม, ต้นหอม, มะเขือเทศ, ค่าเช่าบ้าน, ผักกาดขาว และถั่วฝักยาว เป็นต้น
#เงินเฟ้อครึ่งปีหลัง
CR:สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า