นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก(Global Economic Prospects) ว่า ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงมาที่ร้อยละ 2.9 ลดลง 1.2 จุดจากตัวเลขคาดการณ์เดิมในเดือนมกราคมคือ ร้อยละ 4.1 และลดจากอัตราการเติบโตร้อยละ 5.7 ในปีที่แล้ว เตือนว่า หลายประเทศอาจจะประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและเงินเฟ้อสูงขึ้น (stagflation) คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2513
ธนาคารโลกคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นในปี 2566-2567 ทั้งคาดว่า ภาวะเงินเฟ้อจะยังคงสูงเกินเป้าที่หลายประเทศตั้งไว้ ระบุว่า การสู้รบในยูเครนและปัญหาที่ตามมาคือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งอาหารและพลังงาน มีราคาสูงขึ้น อีกทั้งมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดในนครเซี่ยงไฮ้ของจีนจนกระทั่งเกิดปัญหาซัพพลายเชนทั่วโลก ล้วนซ้ำเติมความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกที่ต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะอ่อนแอและเงินเฟ้อสูงโดยต่อเนื่องอีกหลายปี
สำหรับเศรษฐกิจไทย ธนาคารโลก คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 2.9 ในปีนี้ และร้อยละ 4.3 ในปีหน้า เป็นผลจากการฟื้นตัวของธุรกิจการท่องเที่ยว สำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (advanced economies)เช่น กลุ่มจี-7 ธนาคารโลกปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตมาที่ร้อยละ 2.6 ในปีนี้จากร้อยละ 5.1 ในปีที่แล้ว คาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะเติบโตร้อยละ 2.2 ในปีหน้า
ธนาคารโลกเสนอแนะบรรดาคณะผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลทั่วโลกให้ประสานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครน กำหนดแผนรับมือกับราคาน้ำมันและอาหารมีราคาแพง พร้อมทั้งเริ่มจัดทำโครงการผ่อนผันเรื่องการชำระหนี้ให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอและมีเงินเฟ้อสูงขึ้น(stagflation)ในปี 2513 ธนาคารกลางของบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วแก้ปัญหานี้ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้เกิดวิกฤติทางการเงินในตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก
#ธนาคารโลก
#ลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก