ประเด็น GT200 ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง จากกรณีที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการใช้งบประมาณ กระทรวงกลาโหม ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณว่า ปลายเดือนมีนาคม กองทัพบกทำสัญญาจ้างมูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง (เฉลี่ยตกเครื่องละ 10,000 บาท)
พลเอก สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก และโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกอย่างสิ้นสุดแล้วไม่ต้องผ่าพิสูจน์ พร้อมยืนยันว่างบประมาณปี 66 ไม่ได้ตั้งในเรื่องนี้ ในส่วนงบประมาณปี2565ที่ไม่ได้ใช้ ก็ต้องคืน ประมาณ 2-3 ล้านบาท ที่ผ่านมาได้มีการผ่าพิสูจน์ไปแล้ว 320 เครื่อง
ส่วนการทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ไม่ต้องผ่าเครื่องGT200 แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.สันติพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้รอหนังสือตอบรับจากอัยการสูงสุดอยู่ ยืนยันกองทัพบกจะใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ได้ชี้แจงไปแล้ว เป็นเรื่องของงบประมาณในปี 2565 อีกทั้งวันนี้อัยการสูงสุดก็ได้ชี้แจงว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว ขณะที่การเรียกร้องค่าเสียหายก็เริ่มดำเนินการไปแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ต้องตรวจสอบซ้ำอีก พร้อมย้ำว่า ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ไม่มีในส่วนดังกล่าว ซึ่งในขณะนั้นมีการตรวจสอบ GT200 และหลังจากนั้นก็มีข้อยุติจากอัยการสูงสุด จึงไม่มีการตรวจสอบต่ออีกแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ
ส่วนงบที่เหลือจะต้องคืนคลังหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อไม่ได้มีการเบิกจ่าย งบดังกล่าวก็อยู่ที่รัฐบาล เพราะงบประมาณทุกอย่างต้องเบิกจากงบกลางของหน่วยงาน หากไม่ได้เบิกก็ค้างอยู่ที่เรา ไม่ใช่สามารถเบิกล่วงหน้าได้ หากเบิกไปต้องมีการรายงานผลการใช้และมีผลงานออกมา ทุกครั้งในการใช้งบประมาณ รวมถึงการรายงานผลพร้อมประเมินผลกลับคืนมาทุกครั้ง ถ้าอะไรเบิกแล้วไม่ได้ใช้ ไม่ได้ทำก็ค้างคาอยู่ตรงนี้ ฉะนั้นงบประมาณต่าง ๆ ที่อนุมัติไปไม่ว่าจะเป็นโครงการต่าง ๆ ของหลายกระทรวง หากทำไม่ได้หรือทำไม่สำเร็จ ติดขัดส่วนใด จะต้องส่งคืนทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ และมีการดูแลกันอยู่
#GT200
#กองทัพบก