กรมควบคุมโรค เร่งฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นให้ได้ร้อยละ 60 เพื่อเปลี่ยนผ่านเป็นโรคประจำถิ่น

04 มิถุนายน 2565, 17:46น.


         จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ลดความรุนแรงลงและมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ในการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น มีขั้นตอนที่สำคัญ คือ ประชาชนได้รับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นครอบคลุมทุกกลุ่ม แต่ละจังหวัดมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 เพราะระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงในเวลา 4-6 เดือน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลวันที่ 2 มิถุนายน 2565 มีผู้ครบกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นมารับการฉีดตามนัดเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น และพบว่า 20 จังหวัดที่ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้น้อยเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่ถึงกำหนดรับเข็มกระตุ้นแล้ว ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี, สตูล, ยะลา, บึงกาฬ, สกลนคร, หนองบัวลำภู, นครศรีธรรมราช, ชุมพร, กระบี่, พัทลุง, ตรัง, เลย, กาฬสินธุ์, แม่ฮ่องสอน, สระแก้ว, หนองคาย, มุกดาหาร, สุราษฎร์ธานี และจันทบุรี จึงขอเชิญชวนประชาชนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นเพียงพอ รองรับการเปิดประเทศและใช้ชีวิตได้เป็นปกติและมีความปลอดภัยมากขึ้น



          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีแผนจัดส่งวัคซีนโควิด- 19 ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ไปยังโรงพยาบาลส่วนตำบล ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อให้สามารถพาผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงไปฉีดวัคซีนได้สะดวกขึ้น และให้บริการแบบ walk in ทุกจุดฉีด นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกสำรวจประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เพื่อจัดวัคซีนไปบริการเชิงรุกถึงบ้าน จึงขอให้ทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และความจำเป็นของวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น



...



#กระทรวงสาธารณสุข



#วัคซีนโควิด



#โรคประจำถิ่น

ข่าวทั้งหมด

X