ผลไม้ไทย สุดฮอต รุกตลาดโลก ฝ่าโควิด-19 ปีที่แล้ว ทุเรียนไทย ส่งออกสูง 68%

03 มิถุนายน 2565, 09:41น.


          ผลไม้ไทย เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในสินค้าเกษตรส่งออกไทย เห็นได้ชัดเมื่อปีที่แล้ว แม้การส่งออกข้าวไทยเริ่มชะลอตัว แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรรวมของไทยกลับไม่ชะลอตาม เพราะได้อานิสงส์จากการส่งออกผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นมากสูงถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 6 เท่าของการส่งออกผลไม้ในรอบสิบปี มองไปข้างหน้าแนวโน้มการส่งออกผลไม้ไทยจะมีความท้าทายอย่างไร และอะไรคือราชาผลไม้ไทยสุดฮอตรุกตลาดโลก



         บทความของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า การส่งออกผลไม้ไทยครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าเกษตรส่งออกสูงที่สุดถึงร้อยละ 29 มองไปข้างหน้าคาดว่า การส่งออกผลไม้ไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามความนิยมต่อเนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญซึ่งกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก เพราะระยะเวลาขนส่งผลไม้ที่รวดเร็ว จึงคงความสดใหม่และค่าขนส่งที่ไม่สูงนัก





         ผลไม้ส่งออกที่สำคัญคือ ทุเรียน “ราชาแห่งผลไม้” ปี 2564 ทุเรียนไทยมีมูลค่าส่งออกสูงถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกสูงถึงร้อยละ 68 รองลงมาได้แก่ ลำไย และมังคุด ซึ่งได้รับความนิยมสูงต่อเนื่องในต่างประเทศ แต่มีอัตราการขยายตัวค่อนข้างคงที่ โดยผลไม้ส่งออกทั้งสามชนิดนี้กินส่วนแบ่งการส่งออกผลไม้สูงถึงร้อยละ 84 ซึ่งมีตลาดสำคัญกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชีย เช่น  จีน ฮ่องกง และเวียดนาม





         จากข้อมูล Trade Map ของ International Trade Center (ITC) พบว่า ในตลาดนำเข้าทุเรียนทั้งโลก ทุเรียนไทยได้รับความนิยมสูงสุด คือมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 76 ของการนำเข้าทุเรียนทั่วโลก รองลงมาคือ ทุเรียนจากฮ่องกง และเวียดนาม ตามลำดับ นอกจากนี้ มังคุดไทยก็ยังได้รับความนิยมในตลาดโลกสูงที่สุดเช่นเดียวกัน ส่วนการส่งออกลำไยไทยยังคงเป็นรองลำไยจากเวียดนามอยู่ เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งฮ่องกงและเวียดนามต่างก็นำเข้าทุเรียนไทย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 94 ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมด เพื่อไปขายต่ออีกทอดหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งก็คือ ผู้บริโภคทุเรียนไทยรายใหญ่ที่สุดของโลก





          ในช่วงที่จีนล็อกดาวน์  ผู้ประกอบการไทย ปรับตัวได้ดี  ผู้ส่งออกผลไม้ไทยได้เปลี่ยนจากการขนส่งจากทางบกมาเป็นทางเรือมากขึ้น เช่น  ได้เช่าเหมาเรือด่วนเพื่อส่งทุเรียนและมังคุดไปจีน เพิ่มการขนส่งทางอากาศ แม้ต้นทุนค่าขนส่งจะสูง รวมถึงพฤติกรรมการส่งออกผลไม้เริ่มที่จะเปลี่ยนไปยังประเทศอื่นมากขึ้น เช่น  การส่งออกมะม่วงและลำไยไปมาเลเซียที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2563 – 2564 



          แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ส่งออกไทย รวมถึงเกษตรไทยก็ยังเผชิญกับความท้าทายอยู่หลายเรื่อง เช่น



1.การกระจุกตัวของตลาดส่งออก: ตลาดรับซื้อผลไม้ไทยกระจุกตัวและพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก อาจมีความเสี่ยงเนื่องจากจีนใช้มาตรการเข้มงวด อาจทำให้ต้นทุนการขนส่งของผู้ส่งออกไทยเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ รสนิยมการบริโภคผลไม้ของผู้บริโภคชาวจีนในอนาคต อาจเลือกที่จะหันไปซื้อผลไม้ที่มีรสชาติแปลกใหม่ที่ผลิตจากประเทศอื่นมากขึ้น อาจทำให้ไทยสูญเสียลูกค้าได้ หากผู้ประกอบการไทยหันมาแปรรูปผลไม้มากขึ้น เพื่อนำเสนอรสชาติที่แปลกใหม่ก็น่าจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกผลไม้ได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง



2) รายได้ของเกษตรกรไทย: นอกจากนวัตกรรมทางการผลิตแล้ว นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงินที่จับคู่ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายให้มาพบกันบนโลกออนไลน์ก็มีความสำคัญต่อการปรับตัวของเกษตรกรไทย เช่น การทำช่องทางการขายแบบ E-commerce เป็นอีกช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย



3) การบริหารจัดการโซนนิ่ง (Zoning) และปริมาณผลผลิตทุเรียนในอนาคตเพื่อลดการกระจุกตัวช่วงออกสู่ตลาด: ในช่วงที่การส่งออกผลไม้มีความร้อนแรง จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกผลไม้อย่างทุเรียนเพิ่มมากขึ้น หากผลผลิตทั้งหมดออกสู่ตลาดจำนวนมาก ไม่ได้ขยายตลาดการส่งออกไปพร้อมๆกัน ผลผลิตที่มีมากกว่าความต้องการของตลาดจะส่งแรงกดดันต่อราคาสินค้าให้ลดลง ส่งผลกระทบกับมูลค่าการส่งออก



 



#ส่งออกผลไม้ไทย



รายละเอียดเพิ่มเติม :   https://shorturl.asia/VYAij



CR:ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข่าวทั้งหมด

X