ราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์เมื่อเวลา 18.30 น. ปรับตัวลดลง 2.98 เหรียญสหรัฐ อยู่ที่ 112.28 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรลปัจจัยมาจากซาอุดีอาระเบีย หารือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่มกำลังการผลิต คาดว่าอาจจะมีการประกาศเรื่องดังกล่าวในการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสในวันนี้ (2 มิ.ย.)
ก่อนหน้านี้ ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของกลุ่มโอเปก ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐที่ต้องการให้กลุ่มโอเปกพลัสซึ่งมีรัสเซียเป็นสมาชิกด้วยนั้น ปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าในระดับปัจจุบัน เพื่อสกัดราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ.
ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธานได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาเกี่ยวกับค่าการกลั่นน้ำมันแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลโดยเร็วๆนี้จะหารือกับกลุ่มโรงกลั่นเพื่อพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนภาพรวม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิ.ย.นี้
ขณะนี้ ธุรกิจน้ำมันเป็นการค้าแบบเสรี ไม่ได้ควบคุมค่าการกลั่นแต่จะใช้วิธีมอนิเตอร์บนสมมติฐานหลักๆ ของส่วนต่างราคาน้ำมันดิบกับสำเร็จรูป ซึ่งหากดูยอมรับว่าค่าการกลั่นอาจจะสูงเกินไป แต่ก็ต้องมาดูข้อเท็จจริง เพราะเข้าใจว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ค่าการกลั่นมีการปรับตัวสูงขึ้นมากจากที่เคยอยู่เฉลี่ยที่ 2 บาทต่อลิตร มาเป็น 5 บาทต่อลิตร แต่สมมติฐานที่ทางกระทรวงพลังงานติดตามอาจจะต่างกับโรงกลั่นเพราะโรงกลั่นแต่ละแห่งมีการนำเข้าน้ำมันมาจากหลายแหล่งไม่เท่ากันประกอบกับช่วงที่ผ่านมาน้ำมันดิบตลาดโลกราคาผันผวนจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้มีค่าพรีเมี่ยมสูงขึ้นเพราะมีเรื่องปัจจัยเสี่ยงทั้งหายาก และการขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายที่แพง จึงต้องดูว่าต้นทุนแท้จริงในการซื้อน้ำมันดิบ แหล่งซื้อ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เมื่อคำนวณแล้วออกมาเท่าไร เหมาะสมหรือไม่ เพราะกลุ่มโรงกลั่นอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกันในภาวะปัจจุบัน ต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากพิจารณากำไรที่แท้จริงที่กลุ่มโรงกลั่นฯ ได้รับนั้น จะเห็นว่ากลุ่มโรงกลั่นฯ ไม่ได้มีกำไรสูงตามราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 อีกทั้งกลุ่มโรงกลั่นฯ ยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหากราคาน้ำมันมีทิศทางปรับตัวลดลงในอนาคต ซึ่งก็เป็นไปตามวงจรของธุรกิจน้ำมันที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง โดยสามารถดูได้จากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 63 เป็นต้นมา ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดและกลุ่มโรงกลั่นฯ ขาดทุนสต๊อกน้ำมันในปี 63 เป็นจำนวนเงินรวมสูงกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มโรงกลั่นฯ ยังคงต้องแบกรับการขาดทุนมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง และยังลงทุนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการลงทุนเพื่อผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ที่ต้องใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 50,000 ล้านบาทอีกด้วย
#ลดค่าการกลั่น
#ดึงราคาขายปลีกลดลง