องค์การอนามัยโลก ระบุการติดเชื้อฝีดาษลิงไม่ใช่ความผิด ขอผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา

02 มิถุนายน 2565, 08:17น.


          นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่าการที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงจำนวนหลายร้อยคนในหลายประเทศนอกทวีปแอฟริกาในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโดย “ตรวจไม่พบ” มาระยะหนึ่งแล้ว โดยสหราชอาณาจักรรายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม (2565) จนถึงขณะนี้มีการยืนยันผู้ติดเชื้ออีกมากกว่า 550 คนใน 30 ประเทศนอกประเทศในแถบตะวันตกและแอฟริกากลางที่มีโรคติดเชื้อฝีดาษลิงเป็นโรคเฉพาะถิ่น



          ดร.โรซามันด์ ลูอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไข้ทรพิษและฝีดาษ ขององค์การอนามัยโลก ยอมรับว่า องค์การอนามัยโลกมีความกังวล เนื่องจากฝีดาษลิงมีความเกี่ยวข้องกับไข้ทรพิษที่เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตปีละนับล้านคน จนหมดไปในปี 2523 (ค.ศ.1980) แต่ฝีดาษลิงแพร่ระบาดผ่านการสัมผัสใกล้ชิด มีความรุนแรงน้อยกว่า มีอาการโดยทั่วไปคือมีและมีผื่น หรือตุ่มหนองซึ่งจะชัดเจนขึ้นหลังจาก 2 ถึง 3 สัปดาห์



         ดร.ลูอิส กล่าวว่า การติดเชื้อฝีดาษลิงไม่ใช่ความผิด จึงขอว่าอย่าตีตราผู้ติดเชื้อ เพื่อให้เข้าสู่การรักษาและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตามในการป้องกันสามารถใช้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษได้ แต่ขณะนี้วัคซีนขาดตลาดแล้ว และองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนเฉพาะในกลุ่มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านสาธารณสุข และกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเท่านั้น



         ในส่วนของกลุ่มประเทศที่มีโรคติดเชื้อฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่น ยังพบผู้ติดเชื้อปีละนับพันคน ในปีนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 70 รายใน 5 ประเทศ แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตนอกกลุ่ม



         ขณะเดียวกัน นพ. ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการด้านเหตุฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวเตือนว่า ปัจจัยหนึ่งที่พบโรคประจำถิ่นนอกพื้นที่ ทั้งโรคฝีดาษลิงและไข้ลาสซา (lassa fever) คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้สัตว์หลายชนิดเปลี่ยนพฤติกรรมการหาอาหาร โรคที่มักแพร่ระบาดในสัตว์กลับพบมากขึ้นในมนุษย์



          สำหรับไข้ลาสซาเป็นไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสแพร่เชื้อจากสัตว์ประเภทหนู โดยการสัมผัสละอองฝอยลมหายใจ หรือสัมผัสอุจจาระของหนูที่ติดเชื้อ การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ดื่มนํ้าที่ปนเปื้อนเชื้อ องค์การอนามัยโลกประกาศให้ไข้ลาสซา เป็น 1 ใน 6 โรคติดต่ออันตราย และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน







#องค์การอนามัยโลก



#ฝีดาษลิง

ข่าวทั้งหมด

X