ทีมศก.เตรียมหารือทิศทางวิกฤตพลังงาน ลดแรงกดดันเงินเฟ้อ

01 มิถุนายน 2565, 09:56น.


           บทวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา รายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์ ระบุถึงแนวทางลดวิกฤตพลังงานว่า ทางการเตรียมพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานเพิ่มเติมในช่วงที่ตลาดแรงงานยังเปราะบาง นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในเดือนนี้ เตรียมหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง เพื่อประเมินถึงผลกระทบของสถานการณ์การสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ จะนำข้อมูลมาทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงาน หรืออาจจะมีการเพิ่มความช่วยเหลือเพื่อลดความเดือดร้อนให้กับประชาชน หลังรัฐบาลได้ออกมาตรการระยะสั้นไปก่อนหน้า



         แนวโน้มความผันผวนของราคาพลังงานในระดับสูง สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อและภาวะค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ สถานการณ์การจ้างงานในไตรมาส 1/2565 มีการปรับดีขึ้นทั้งในภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร ทั้งสาขาการผลิต การค้าส่งและค้าปลีก และโลจิสติกส์ ส่วนการจ้างงานในสาขาก่อสร้าง โรงแรม และร้านอาหาร ยังหดตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว คาดว่า จะช่วยหนุนให้เกิดการจ้างงานตามมาแต่ยังต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาเท่ากับระดับก่อนเกิดการระบาด เนื่องจาก จำนวนผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ยังมีจำนวนสูง 3.8 ล้านคน เนื่องจากหลายธุรกิจใช้วิธีลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลงเพื่อประคองธุรกิจ จึงอาจกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายของกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ สะท้อนมาตรการความช่วยเหลือจึงอาจยังมีความจำเป็น



         การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อวานนี้ (31 พ.ค.65) นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลประคับประคอง ตรึงราคาน้ำมันและแก๊สแบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางด้านพลังงาน ซึ่งวันนี้มีปริมาณสำรองถึง 2 เดือนกว่า และพยายามจะทำให้เพิ่มสูงขึ้นเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ เรื่องของราคา ขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน



         มาตรการด้านพลังงานที่รัฐบาลได้ดูแลตั้งแต่ปี 63-65 ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น จำนวน 206,903 ล้านบาท และเชื่อว่า จะสามารถรับมือกับปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่คาดว่าจะยืดเยื้อได้  รัฐบาลยังมีแผนดึงดูดการลงทุนจากการที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประเทศซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น และสหรัฐ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศมีความพร้อมและมีความสนใจที่จะนำคณะนักธุรกิจชุดใหญ่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อหาโอกาสในการลงทุนตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ และไตรมาส 1 ของปีหน้า



         นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดิบที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 90  วิกฤติพลังงานเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เกิดเฉพาะในประเทศไทย ดังนั้นสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงจึงต้องทราบว่ามาจากเหตุอะไร  รัฐบาลมีแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีมาตรการเพิ่มความยืดหยุ่นระยะสั้น อย่างเรื่องของไฟฟ้าที่มีการใช้แก๊สธรรมชาติในการผลิตหลัก เมื่อแก๊สมีราคาสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทน ดังนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงถือว่ายังมีความจำเป็น รวมถึงจะต้องมีการเพิ่มพลังงานสะอาดเพื่อนำมาทดแทนด้วย



 



#วิกฤตพลังงาน



รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.krungsri.com/th/research/macroeconomic/weekly/weekly-220531



CR:วิจัยกรุงศรีอยุธยา,Reuters 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X