สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีขยับขึ้นแตะร้อยละ 7.9 ในเดือนนี้ โดยตัวเลขนี้ยังคงเป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้น ซึ่งพิจารณาจากดัชนีราคาผู้บริโภค เทียบกับราคาสินค้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 โดยตัวเลขเงินเฟ้อของเยอรมนีในเดือนพฤษภาคมสูงกว่าร้อยละ 7.4 ในเดือนเมษายน ระบุว่า สถานการณ์การสู้รบในยูเครนและปัญหาซัพพลายเชนจากมาตรการล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้ของจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ราคาพลังงานของเยอรมนีในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดของเยอรมนีนับตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวปี 1973-1974 ครั้งที่วิกฤตน้ำมันโหมกระพือราคาให้พุ่งสูงเช่นกัน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนี ดีดตัวสูงขึ้นอยู่ก่อนแล้ว แตะระดับ 5.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนพุ่งทะยานเหนือ 7% ในเดือนมีนาคม หลังรัสเซียรุกรานยูเครน
ขณะที่ราคาอาหารในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อของเยอรมนีในเดือนพฤษภาคมทะยานขึ้นมาทำสถิติสูงที่สุดนับแต่มีการรวมประเทศเยอรมนีตะวันออกกับเยอรมนีตะวันตกในปี 2533 และใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อช่วงปี 2516-2517 หรือหลังวิกฤตน้ำมัน
ด้านนายออเรเลียน ดูธอยท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมจากบริษัทอัลลิอานซ์ เทรด ของเยอรมนี ระบุว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญๆในเยอรมนีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่า ราคาสินค้าส่วนใหญ่จะปรับขึ้นร้อยละ 10.7 ในปีนี้ หมายความว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นราว 250 ยูโรต่อคน
ปัญหาอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีสูงขึ้น เป็นปัญหาเดียวกับที่ประเทศส่วนใหญ่ของยุโรปและทุกประเทศทั่วโลกต่างประสบอยู่ในขณะนี้ ทำให้ผู้บริโภคจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการต่างๆในราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ลดกำลังซื้อของผู้บริโภคด้วย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปจะมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 6 ในปีนี้
#เยอรมนี
#อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม