ในวันพรุ่งนี้ จะมีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย.เพื่อรับหลักการในวาระแรก น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะชี้แจงถึงความจำเป็นและแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังการแพร่ระบาด COVID-19 วงเงินงบประมาณรวม 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 78.2% และรายจ่ายลงทุน 21.8%
สำหรับการดำเนินการของปี 2566 รัฐบาลได้กำหนดแผนงาน/โครงการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า งบประมาณรวม 2.7 แสนล้านบาท เกี่ยวข้อง 14 กระทรวง 265 โครงการ
ด้านรายได้ งบประมาณ 1.73 แสนล้านบาท เช่น การช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความยากลำบาก ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.4 ล้านคน คนพิการไม่น้อยกว่า 2.09 ล้านคน เด็กเล็ก 2.58 ล้านคน ผู้ป่วยเอดส์ 8.8 แสนคน ลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร เพิ่มพื้นที่ชลประทานแก่เกษตรกร
ด้านการศึกษา งบประมาณ 1.81 หมื่นล้านบาท เช่น การสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 2.62 ล้านคน ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 6.6 แสนคน
ด้านสุขภาพ งบประมาณ 7.01 หมื่นล้านบาท เช่น การดูแลค่ารักษาผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 13.45 ล้านคน ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาล 494 แห่ง
ด้านความเป็นอยู่ งบประมาณ 7.16 พันล้านบาท เช่น จัดที่ดินทำกินแก่ประชาชนที่ยากจน ขยายการเข้าถึงน้ำประปาเพิ่ม 2 แสนครัวเรือน ส่งเสริมโอกาสให้คนจนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ 2.16 พันล้านบาท เช่น คุ้มครองผู้ประสบภัยทางสังคม แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ สนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชน
#งบประมาณปี2566