นักวิชาการแนะรัฐบาล หามาตรการช่วยเหลือประชาชนใน’วิกฤตอาหาร’แม้ไทยจะส่งออกเพิ่ม

30 พฤษภาคม 2565, 22:21น.


 


          วิกฤตการณ์อาหารโลก และ 30 กว่าประเทศระงับการส่งออกอาหาร รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ มองว่า แม้ในภาพรวม ไทยได้ประโยชน์จากรายได้ส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วงนี้ แต่ขณะเดียวกัน ราคาอาหารและค่าครองชีพในประเทศจะแพงขึ้นไปจนถึงปลายปีนี้คาดว่า รายได้จากภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่รัฐก็ควรไปหามาตรการหรือกลไกที่ทำให้รายได้เหล่านี้กระจายไปสู่ผู้ผลิตและเกษตรกรอย่างเป็นธรรมส่วนผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากอาหารแพง คือ คนจน ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารจะคิดเป็นสัดส่วน 50-70% ของรายได้ของคนกลุ่มนี้ 


          คนที่กระทบหนักสุด คือ คนจนเมือง รัฐอาจต้องจัดมาตรการสวัสดิการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนมาก เช่น คูปองอาหาร เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม 


          สำหรับผลกระทบสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลต่อราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น การขาดแคลนปุ๋ยและวัตถุดิบอาหาร การเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซื้อขายล่วงหน้า การชะงักงันของการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน การกีดกันการค้าสินค้าเกษตรด้วยระบบโควตา และระงับการส่งออก ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารในประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารจำนวนมาก


          สงครามทำให้พื้นที่การผลิตข้าวสาลีและธัญพืชได้รับความเสียหาย และไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งไม่สามารถส่งออก โดยรัสเซียกับยูเครนเป็นสองประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีประมาณ 25-30% ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีทั่วโลกทำให้ประเทศนำเข้าข้าวสาลีอย่างไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อียิปต์ โมร็อกโก และเลบานอนมองหาประเทศส่งออกมาแทนที่รัสเซียและยูเครน เนื่องจากสงครามส่งผลให้ผลผลิตติดค้างในยูเครน 


          ส่วนการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกทำให้การซื้อข้าวสาลีจากรัสเซียทำได้ยาก สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ จะทำให้ทั่วโลกหันไปพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากอินเดีย เพื่อบรรเทาปัญหาดีมานด์ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ล่าสุด อินเดียก็ต้องระงับการส่งออกข้าวสาลีและธัญพืชเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและป้องกันไม่ให้ราคาภายในปรับตัวสูงเกินไป


          ดร.อนุสรณ์ คาดว่า วิกฤตอาหารโลกจะรุนแรงกว่ายาวนานกว่าวิกฤตพลังงาน และมีความเชื่อมโยงกันส่งผลกระทบต่อประชากรโลกระดับหลายพันล้านคน แม้นสงครามของระบอบประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยุติลงปลายปีนี้ ส่วนประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารแต่ก็ไม่ควรประมาท ควรมียุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารไว้ด้วย นอกเหนือจากการมุ่งมั่นเป็น ‘ครัวของโลก’


 


#วิกฤตอาหารโลก


 
ข่าวทั้งหมด

X