เอเชียสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตอาหารโลกได้ ด้วยการไม่ตื่นตระหนกและไม่กักตุนข้าว

28 พฤษภาคม 2565, 12:28น.


          บลูมเบิร์ก รายงานว่า ชาติเอเชียสามารถช่วยให้วิกฤตอาหารโลกลดความรุนแรงลงได้ด้วยการเรียนรู้จากวิกฤตในปี 2551 และไม่ตื่นตระหนก



          ดร.ปีเตอร์ ทิมเมอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าอาหารต่าง ๆ แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสงครามยูเครนและสภาพอากาศ หลายประเทศใช้มาตรการควบคุมการส่งออกพืชผล ตั้งแต่ข้าวสาลีและน้ำตาลไปจนถึงน้ำมันประกอบอาหาร



          อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ราคาข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลืองจะแพงขึ้นมาก แต่ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักสำหรับคนมากกว่า 3,000 ล้านคนยังทรงตัว ดังนั้นหากประเทศต่างๆ ไม่ตื่นตระหนกหรือกักตุนข้าว ก็จะสามารถหยุดวิกฤตปัจจุบันไม่ให้ซ้ำรอยในปี 2551 ซึ่งในเวลานั้นข้าวมีราคาแพงจนทำให้ความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาคตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างร้ายแรง ดร.ทิมเมอร์ กล่าวย้ำว่า ให้ระวังนโยบายที่เกี่ยวกับข้าว ทั้งการนำเข้า การส่งออก และการควบคุม



          ข้าวซึ่งผลิตและบริโภคในเอเชียประมาณร้อยละ 90 เป็นพืชที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่ง โดยในวิกฤตปี 2551 ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นในเวลานั้นเกิดจากการที่ผู้ผลิตรายใหญ่คืออินเดียและเวียดนามระงับการส่งออกเพื่อสำรองไว้บริโภคในประเทศ ส่งผลให้เกิดการกักตุนอย่างตื่นตระหนกโดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง



          ส่วนในวิกฤตอาหารในปัจจุบันมีความคล้ายกันในบางประเด็น เมื่อราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้นมาก รัฐบาลหลายประเทศใช้มาตรการห้ามส่งออกเพื่อปกป้องสินค้าของตนเอง อินโดนีเซียจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม มาเลเซียสั่งห้ามส่งออกไก่ ขณะที่อินเดียจำกัดการส่งออกทั้งข้าวสาลีและน้ำตาล ทำให้มีความกังวลว่า ในลำดับถัดไปอาจเป็นการจำกัดการส่งออกข้าว แต่ดร.ทิมเมอร์ อธิบายว่า พฤติกรรมการกินของประชาชนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทต่อรัฐในการกำหนดนโยบายในส่วนนี้ ผู้บริโภคในอินเดีย จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถปรับเปลี่ยนการบริโภคระหว่างข้าวกับข้าวสาลีได้ง่ายกว่าในพื้นที่อื่นๆ



          อย่างไรก็ตาม เวียดนามอาจจำกัดการส่งออกเนื่องจากมีความเสี่ยงเกี่ยวกับผลกระทบของต้นทุนปุ๋ยที่สูงต่อผลผลิตในช่วงเวลาที่ภัยแล้งคุกคามพืชผลในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และหากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระงับการส่งออกข้าว จะถึงจุดที่เขาเห็นว่าคือ "หายนะที่แท้จริง"



...



#วิกฤตอาหารโลก



#เอเชีย

ข่าวทั้งหมด

X