การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ เวิลด์ อิโคโนมิกฟอรั่ม(ดับเบิลยูอีเอฟ) เปิดฉากขึ้นแล้วในเมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ จากวันนี้ไปจนถึงวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ ภายใต้ข้อหัวว่า ประวัติศาสตร์มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ (History at a Turning Point) ในปีนี้ เน้นแนวทางการสร้างความร่วมมือและการพัฒนาที่ใช้ได้จริง เป็นการประชุมประจำปีครั้งสำคัญที่สุดนับตั้งแต่จัดตั้งโครงการนี้มากว่า 50 ปีแล้ว
นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป(อียู) กล่าวว่าประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศไม่ควรสั่งซื้อพลังงานจากฟอสซิล รวมทั้งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอีกต่อไป พร้อมทั้งเร่งพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยระบุว่า เศรษฐกิจแห่งอนาคตจะไม่พึ่งพาน้ำมันดิบและถ่านหินอีกต่อไป แต่จะเน้นพัฒนาวัตถุดิบ เช่น แร่ลิเทียมและโลหะซิลิคอน ซึ่งใช้สำหรับผลิตแบตเตอร์รี ชิปประมวลผล รถไฟฟ้าหรือ กังหันลม
นางฟอน เดอร์ เลเยน เตือนคนทั่วโลกว่า ทุกคนไม่ควรหลงติดอยู่กับแนวคิดเดิมๆเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติอีกต่อไป
นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ย้ำว่า การที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียส่งทหารเข้าไปรุกรานยูเครนกระทบสันติภาพในยุโรป เป็นจุดเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง ไม่เฉพาะต่อความมั่นคงของยุโรป แต่กระทบต่อกติการะหว่างประเทศด้วย ซึ่งนาโตมีสองแนวทางคือ ให้การสนับสนุนแก่ยูเครนและการป้องกันสงครามไม่ให้บานปลายมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ นายเคลาส์ ชวับ ประธานกรรมการบริหารของสภาเศรษฐกิจโลกหรือเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (ดับเบิลยูอีเอฟ) เปิดเผยว่า การจัดประชุมดับเบิลยูอีเอฟในสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมดังเช่นในปัจจุบันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่น การสู้รบในยูเครน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และภาวะโลกร้อน
เวทีประชุมดับเบิลยูอีเอฟ ในเมืองดาวอสจะระดมผู้นำระดับโลกจากทุกสาขาอาชีพในสังคมมาร่วมประชุม เพื่อร่วมพิจารณาเรื่องผลกระทบต่างๆจากสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อภาครัฐจะได้นำมากำหนดนโยบายและภาคธุรกิจนำมากำหนดยุทธศาสตร์การบริหารองค์กรภาคธุรกิจ
#สวิตเซอร์แลนด์
#เวทีประชุมเศรษฐกิจโลก