หลังกรมควบคุมโรค จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง (monkey pox) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ การยกระดับศูนย์ขึ้นมา เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ทัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียาเฉพาะรักษา ต้องรักษาประคับประคอง แม้ว่า ในประเทศยังไม่มีผู้ติดเชื้อนี้และประเทศไทยก็ไม่เคยเจอโรคนี้มาก่อน
สำหรับการเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ คือ คนที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งที่ด่านที่สนามบินต่างๆอาจจะไม่เห็นอาการ เพราะตอนเริ่มต้นอาการอาจจะน้อยหรือไม่มีอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย เกิดตุ่มหนอง ตุ่มน้ำ จะเน้นเฝ้าระวังในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงทั้งประเทศแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส
โดยที่สนามบินจะมีการคัดกรองอาการในผู้เดินทางมากับไฟล์ทบินจากประเทศเหล่านี้ ดูว่ามีแผลหรืออะไรหรือไม่แบบเดินผ่านๆ และแจกบัตรเตือนสุขภาพ(Health beware card) เป็นคิวอาร์โค้ดให้สแกนทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว ซึ่งหลักๆจะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในรพ.ที่ใกล้ที่สุด รวมถึง แจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย
นอกจากนี้ จะมีการเฝ้าระวังที่สถานพยาบาล โดยหากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย คือมีอาการเข้าได้กับโรคและมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยงที่กำลังมีโรคนี้ระบาดข้างต้น ให้สถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ซึ่งประเทศไทยสามารถตรวจเชื้อนี้ได้ แต่ยังทำได้ที่ส่วนกลางคือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ติดเชื้อเข้าในประเทศไทย อาจจะต้องมีกระจายให้ศูนย์ในต่างจังหวัดช่วยตรวจ
ส่วนการกลับมาปลูกฝีป้องกันฝีดาษใหม่หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ยังไม่มีวัคซีน เนื่องจากเป็นโรคที่ถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว จะมีเพียงบางประเทศที่ยังเก็บวัคซีนนี้ไว้ คือ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย แต่ก็สามารถจำลองสายพันธุ์ออกมาทำวัคซีนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวจริง
เช่นเดียวกับ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตั้งห้องปฏิบัติการ(แล็บ) เพื่อตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิงในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อแล้ว หากผู้ที่มีผื่น ตุ่มหนองตามร่างกาย สถานพยาบาลสามารถสวอป(Swab)เชื้อบริเวณแผล ส่งตรวจ RT-PCR ได้ที่แล็บซึ่งมีน้ำยาตรวจเฉพาะ และใช้เวลารอผลเหมือนกับการตรวจโควิด-19
ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า หากเชื้อนี้เข้ามาในประเทศไทย ไม่ต้องกังวล ไทยมีศักยภาพในการตรวจหา เช่นศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ จุฬาฯ สามารถตรวจไวรัสจากฝีดาษลิงได้ โดยใช้ระยะเวลา 1-2 วัน เนื่องจากต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งการตรวจหาเชื้อได้เร็ว และการกักตัวกลุ่มเสี่ยงได้ย่อมช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ เพราะโรคนี้ไม่มียารักษา อย่างประเทศที่มีการพัฒนาทางการแพทย์ อัตราเสียชีวิตมีน้อยกว่า 1% ส่วนกลุ่มเสี่ยง ยังต้องระวังในเด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ส่วนผู้สูงอายุเคยได้มีการปลูกฝี หรือรับวัคซีนฝีดาษไปก่อนหน้านี้ ยังไม่มีใครตอบได้ว่า ภูมิคุ้มกันจะยังคงอยู่หรือไม่
#ฝีดาษลิง
#เฝ้าระวัง
CR:แฟ้มภาพ