สหรัฐฯเดินหน้าคานอิทธิพลจีน จับมือ 13 ประเทศ ร่วมถึงไทย เดินหน้า IPEF

23 พฤษภาคม 2565, 16:29น.


          แถลงการณ์ร่วมของรัฐบาลสหรัฐฯจับมือกับ 13 ประเทศเข้าร่วมโครงการกรอบการค้าทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก(IPEF) ได้แก่  ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทยและเวียดนาม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า โครงการนี้ เพื่อเตรียมรับกับจีนในอนาคต  โดยประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้คิดเป็นสัดส่วนรวมร้อยละ 40 ของจีดีพีทั่วโลก นับเป็นเวทีมีประเทศสมาชิกร่วมมือทางการค้ามากขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งขณะนี้ จีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารอย่างรวดเร็ว



          ด้านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเข้าประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ซึ่งเป็นไปตามตามคำเชิญของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยกล่าวขอบคุณและยินดีกับสหรัฐฯ ต่อแนวคิดที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของภูมิภาคไทยเห็นว่าไม่มีประเทศใดที่จะสามารถรับมือกับความท้าทายนี้โดยลำพังได้ จึงยินดีที่ IPEF มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง ยั่งยืน และครอบคลุมร่วมกัน



         นายกรัฐมนตรีไทย เน้นย้ำว่า ประวัติศาสตร์ของโลกและของประเทศไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน จะเกิดประโยชน์สูงสุดได้ ก็ต่อเมื่อนำไปใช้สร้างความปรองดองในภูมิภาค และประเทศไทยยึดมั่นในระบบการค้าเสรีและเปิดการค้าเสรีกับหลายประเทศ 





          สหรัฐฯระบุว่า ข้อตกลง IPEF เป็นข้อตกลงทางเศรษฐกิจแห่งศตวรรษที่ 21 จะแก้ไขปัญหาท้าทายใหม่ ตั้งแต่เรื่องการกำหนดมาตรฐานในการกำกับดูแลเศรษฐกิจดิจิทัล การรับประกันความมั่นคงทางด้านซัพพลายเชน ตลอดถึงส่งเสริมโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทางด้านพลังงานสะอาด สาระสำคัญของข้อตกลง IPEF จะมี 4 เรื่องหลักๆคือ การค้าที่เป็นธรรมและมั่นคง,ความมั่นคงด้านซัพพลายเชน ระบบสาธารณูปโภคและพลังงานสะอาด, เรื่องภาษีและการต่อต้านปัญหาคอร์รัปชั่น



          แต่เบื้องต้น วิธีการเจรจาและการดำเนินการในเรื่องนี้ และภาครัฐจะประกาศใช้ข้อตกลงนี้อย่างไร ยังคงไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า โครงการนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจเพียงไร เมื่อเทียบกับโครงการการค้าเสรีอื่นๆเช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) ซึ่งแต่เดิมสหรัฐฯไม่ต้องการให้จีนเข้าร่วม แต่จีนสนใจจะเข้าร่วมโครงการนี้เมื่อปีที่แล้ว



          ด้านนางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ  รัฐบาลชุดปัจจุบันเร่งแก้ปัญหา หลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำคนก่อนของสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงต่างๆรวมทั้งข้อตกลง CPTPP ในปี 2559



 



#สหรัฐฯ



#เปิดตัวโครงการกรอบเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก

ข่าวทั้งหมด

X