สธ. ยกระดับเฝ้าระวัง ‘โรคฝีดาษลิง’ ในกลุ่ม 3 ประเทศเสี่ยงสูง อังกฤษ สเปน โปรตุเกส

22 พฤษภาคม 2565, 15:39น.


          หลังสหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)มากขึ้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคได้ยกระดับเพื่อเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางจากประเทศเสี่ยง จากข้อมูลกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค รายงานว่า จำนวนผู้เดินทางที่ลงทะเบียนจากประเทศเสี่ยงสูง  ได้แก่ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส โดยระหว่างวันที่ 1-22 พฤษภาคมนี้ มีผู้เดินทางจากสหราชอาณาจักร จำนวน 13,142 คน จากสเปน 1,352 คน และโปรตุเกส 268 คน



          นอกจากนั้น ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรณีโรคฝีดาษลิง เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจัดทำแผนทั้งในระยะยาว ระยะกลาง ในการปรับปรุงกลยุทธ์ และมาตรการให้เหมาะสม



          แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในระยะนี้  ขณะเดียวกัน ประเทศไทย เป็นช่วงที่เริ่มเปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น อาจจะมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส อิตาลี เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก ทั้งในช่องทางการเข้า-ออกระหว่างประเทศ ได้ หรือผู้ที่เดินทางจากประเทศดังกล่าวไปในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ



          ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง ดังนี้



1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานพบเชื้อในสัตว์เหล่านี้ในไทยก็ตาม หากสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง



2.ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention โดยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก กินอาหารปรุงสุก เป็นต้น



3.หลีกเลี่ยงการสัมผัส สารคัดหลั่ง บาดแผล เลือดน้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง ทั้งนี้ การแพร่เชื้อจากคนสู่คน แม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง จากทางเดินหายใจ หรือผิวหนังที่เป็นตุ่ม



          กรมควบคุมโรคจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และแจ้งให้ประชาชนทราบเป็นระยะ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2590 3839 หรือ 1422



 



 



 



#ฝีดาษลิง



#กรมควบคุมโรค



 

ข่าวทั้งหมด

X