อียูวางแผน หยุดนำเข้าก๊าซรัสเซีย อีก 8 ปีข้างหน้า เดินหน้าพลังงานสะอาด

19 พฤษภาคม 2565, 17:58น.


          นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า กลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)ได้จัดทำยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน เรียกว่า รีพาวเวอร์อียู(REPowerEU) ตั้งเป้าเลิกนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในอีก 8 ปีข้างหน้า โดยกลุ่มอียูจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงาน 3 เรื่องหลักๆได้แก่ การรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด ส่งเสริมโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และกังหันลม และจัดซื้อน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆนอกจากรัสเซีย คาดว่ากลุ่มอียูจะใช้จ่ายงบประมาณตามโครงการนี้รวม 210,000 ล้านยูโรในช่วง 5 ปีข้างหน้า



          นางฟ็อน แดร์ ไลเอิน กล่าวว่า เรื่องที่ทำได้ทันที ประหยัดงบประมาณและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ การรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัด พร้อมทั้งจะรณรงค์เรื่องการสร้างอาคารประหยัดพลังงาน และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงาน เช่น เปลี่ยนมาใช้ปั๊มทำน้ำอุ่นที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสไฟฟ้า แทนการต้มน้ำจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยกลุ่มอียูตั้งเป้าลดการใช้พลังงานจากเดิมร้อยละ 9 มาอยู่ที่ร้อยละ 13 ภายในปี 2573 นอกจากนี้ กลุ่มอียูตั้งเป้าจะเพิ่มปริมาณกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนร้อยละ 45 ภายในปี 2573 จากเป้าหมายเดิมคือ ร้อยละ 40 



          สำหรับแนวทางการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซีย กลุ่มอียูจะลงทุน 12,000 ล้านยูโร จัดทำโครงการส่งก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ทางท่อส่งที่สามารถจะนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากประเทศอื่นๆเช่น อียิปต์ อิสราเอลและไนจีเรีย



          ในปัจจุบัน รัสเซีย ส่งออกก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบให้กับกลุ่มอียู ร้อยละ 40 และร้อยละ 27 ตามลำดับ โดยกลุ่มอียูจ่ายเงินค่านำเข้าพลังงานให้กับรัสเซียราว 400,000 ล้านยูโรต่อปี ซึ่งหลายฝ่ายทักท้วงมาตลอดว่า การที่กลุ่มอียูจ่ายเงินจำนวนมากซื้อพลังงานจากรัสเซีย เท่ากับช่วยให้รัสเซียระดมเงินทุนมาใช้จ่ายเพื่อปฏิบัติการทางทหารในยูเครน



 



 



 



 #กลุ่มอียู



#แผนลดการพึ่งพาพลังงานรัสเซีย    

ข่าวทั้งหมด

X