สาธารณสุขกาญจนบุรี ย้ำ ไม่มีรับจ้างฉีดวัคซีนโควิด-19 เลขาฯอย.บอกวัคซีนขึ้นทะเบียนแล้ว

17 พฤษภาคม 2565, 19:48น.


          กรณีการรับจ้างฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จนเกิดอาการแพ้ เป็นตุ่มและแผลพุพอง นพ.ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) กาญจนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับหญิงสาวรายนี้มารับการรักษาใน รพ.พหลพลพยุหเสนาแล้ว ส่วนเรื่องรับจ้างน่าจะเป็นการสื่อสารที่คาดเคลื่อน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ซักถามแล้วพบว่า ผู้ป่วยเข้าโครงการวิจัยฉีดวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งโครงการมีค่าชดเชยค่าเดินทางให้ แต่ไม่ใช่ค่าจ้างในการฉีดวัคซีน โดยมีการทำสัญญากับผู้ทำโครงการวิจัย และมีการทำประกันกรณีมีผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ซึ่งผู้ป่วยรายนี้มีอาการผื่น ถุงน้ำตามตัว ดังนั้น ผู้ทำโครงการจึงต้องเข้ามาดูแลตรงนี้ด้วย



          นอกจากนี้ ในข่าวยังมีความคาดเคลื่อนเรื่องจำนวนการฉีดด้วย โดยตนได้รับข้อมูล คือ เป็นการฉีดวัคซีน 1 เข็ม ส่วนครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เป็นการเจาะเลือดตรวจหาปริมาณภูมิคุ้มกันว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร รวมทั้งยังพบว่า ผู้ป่วยเคยเป็นโรคผิวหนังเป็นโรคประจำตัวรักษาอยู่ที่ รพ.พหลพลพยุหเสนาอยู่แล้ว อาจจะเป็นเพราะโรคเดิมกำเริบได้ เมื่อได้รับสารกระตุ้นโรคก็กำเริบ หรืออาจจะเกิดจากการแพ้วัคซีนจริงๆ ก็ได้ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาสาเหตุ ขณะนี้ก็ดูแลคนไข้ให้ปลอดภัย ซึ่งอาการโดยทั่วไปอยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว ผื่นลดลง



          หากเป็นเพราะโรคผิวหนังจากโรคภูมิแพ้ตัวเอง หรืออื่นๆ อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษา ต้องกินยาต่อเนื่อง รักษาไม่หายขาด แต่หากเป็นการแพ้วัคซีนจริงๆ เมื่อหยุดฉีดวัคซีน ให้ยาแก้แพ้ ก็รักษาหายได้ แต่ข่าวที่ออกไปลักษณะการจ้างฉีดวัคซีน ไม่มีเด็ดขาด



          นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เรื่องของการศึกษาวิจัยวัคซีน หรือยาในประเทศ ไทย หรือในคนไทยนั้น หากเป็นผลิตภัณฑ์ยาหรือวัคซีนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนแล้ว ก็สามารถนำเข้ามาเพื่อศึกษาวิจัยได้ โดยจะต้องผ่านคณะกรรมการจริยธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นั้น จากการตรวจสอบทราบว่าคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน หัวหน้าหน่วยวิจัยโรคติดเชื้อทางคลินิก และรักษาการหัวหน้าศูนย์ทดสอบวัคซีน ได้ทำโครงการทดสอบวัคซีนจอนห์สันฯเมื่อเดือนมกราคม 2565



          โดยวัคซีนจอห์นสันฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.ไปเมื่อปี 2564 แบบอนุญาตใช้ในภาวะฉุกเฉิน และต่ออายุวัคซีนแล้ว จึงสามารถทดสอบได้



          สำหรับการศึกษาวิจัยวัคซีนนั้น นพ.ไพศาล กล่าวว่า ประชาชนสามารถดูได้จากข้อมูลและหนังสือสัญญาก่อนยินยอมเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัยนั้นๆ ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของผู้ศึกษาวิจัยและหน่วยงานวิจัย รวมถึงการประกันสุขภาพกรณีที่มีผลกระทบหลังจากการศึกษาวิจัยด้วย



 



#อาสาสมัครวิจัยวัคซีน



#โควิด19

ข่าวทั้งหมด

X