กระทรวงการคลัง จะเสนอรายละเอียดของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้(17พ.ค.65) พิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสีย คาดว่า กระทรวงการคลัง จะมีการเสนอ 2 แนวทาง ในการลดปัญหาราคาน้ำมันดีเซลที่อยู่ในระดับสูง ได้แก่
1.การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
2.การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงในอัตราลิตรละ 5 บาท โดยระยะเวลาจะน้อยกว่า 3 เดือน
ทั้ง 2 แนวทาง ประเมินว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้กระทบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2565 โดยการลดภาษีดังกล่าวทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้เดือนละ 5.7 พันล้านบาท รวม 3 เดือน สูญเสียรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของครม.ว่า การขยายการลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไปจะลดให้ลิตรละ 3 บาท เหมือนเดิม หรือ เพิ่มเป็นลิตรละ 5 บาท รวมถึงระยะเวลาที่จะลดให้ว่าจะเป็นกี่เดือน
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะพิจารณาราคาน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ หลังจากเมื่อวันที่ 1 พ.ค.65 ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวน และมีการตรึงให้อยู่ในระดับราคาดังกล่าวจนถึงเมื่อวานนี้(16 พ.ค.65) ทำให้วันนี้ มีการติดตามข่าวที่ระบุว่า กบน.อาจปรับราคาขึ้นอีก 1 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตรว่าเป็นการคาดการณ์ที่ไม่ใช่มติจากที่ประชุม การปรับราคาต้องผ่านการพิจารณาจาก กบน. มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องนำมาประกอบการตัดสินใจ และจะคำนึงถึงผลกระทบภายในประเทศที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบทุกภาคส่วนเช่นกัน
แนวโน้มการปรับราคาน้ำมันดีเซลอาจขยับขึ้นตามกรอบที่รัฐวางแนวทางการปรับขึ้นตามขั้นบันได อยู่ภายใต้ราคาเพดานไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร ขอให้ประชาชนติดตามราคาน้ำมันดีเซลภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น เพื่อรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง และลดการรับข้อมูลที่ผิดพลาด
สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 15 พ.ค.65 ติดลบเกิน 7 หมื่นล้านบาท เพราะต้องอุดหนุนดีเซลประมาณ 10 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม ต้องรอผลการพิจารณาของ กบน.อีกครั้ง เนื่องจาก อาจมีปัจจัยที่ทำให้ตรึงราคาเดิมไว้ก่อน
#ภาษีน้ำมันดีเซล
แฟ้มภาพ