อียู-สหรัฐ เร่งหารือวิกฤตอาหารโลก หลังอินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลี

16 พฤษภาคม 2565, 16:31น.


          นายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (Valdis Dombrovskis)ประธานฝ่ายการค้าของกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)เปิดเผยว่า สหรัฐฯและกลุ่มอียูเริ่มหารือมาตรการต่างๆในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าจำพวกอาหารให้มากขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้ตลาดโลกไม่มีปัญหาขาดแคลนอาหาร หลังอินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลีไปต่างแดน จะทำให้ทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนอาหารหนักยิ่งขึ้น ระบุว่า สหรัฐฯและอียูจะประสานความร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร็ว



          นายโดมโบรฟสกิส กล่าวว่า การบุกยูเครนของรัสเซีย และการที่สินค้าประเภทอาหารมีราคาแพงขึ้น ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารมากขึ้น หลายประเทศ รวมทั้งอินเดีย ผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับสองของโลก มีคำสั่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ห้ามส่งออกข้าวสาลีไปต่างแดน หลังประสบปัญหาคลื่นอากาศร้อน ทำให้ผลผลิตตกต่ำกว่าทุกปี นอกจากนั้น อินโดนีเซียมีคำสั่งเมื่อเร็วๆนี้ ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ด้านอาหารในตลาดโลกแย่หนักกว่าเดิม ระบุว่า มาตรการห้ามส่งออกสินค้าประเภทอาหารจะทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆมีราคาสูงขึ้น และราคาอาหารจะขยับขึ้นด้วย



          ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจากกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก(กลุ่มจี-7) เตือนในช่วงหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การสู้รบในยูเครนเสี่ยงที่ทำให้เกิดวิกฤติด้านอาหารทั่วโลก เนื่องจาก ยูเครนไม่สามารถส่งออกสินค้าประเภทอาหาร เช่น ข้าวเปลือก และสินค้าอื่นๆเช่น ปุ๋ยและน้ำมันพืช อีกทั้งการสู้รบในยูเครนยังสร้างความเสียหายให้กับสวนไร่นาและทำให้เกษตรกรไม่สามารถเริ่มต้นทำการเพาะปลูกในช่วงฤดูทำการเกษตรตามปกติ ซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันของยูเครนมากยิ่งขึ้น



#สหรัฐฯ



#ยุโรป



#ส่งเสริมการส่งออกอาหาร

ข่าวทั้งหมด

X