สหรัฐฯ ให้คำมั่นร่วมมือผู้นำอาเซียนรอบด้าน เปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

14 พฤษภาคม 2565, 10:16น.


          ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เป็นประธานการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่กรุงวอชิงตัน เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นการเปิด “ศักราชใหม่" ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่ม 10 ประเทศ ประวัติศาสตร์โลกของเราในอีก 50 ปีข้างหน้าจะถูกเขียนขึ้นโดยอาเซียน



          ด้านรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส แห่งสหรัฐฯ กล่าวว่าสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะมีการทำงานความร่วมมือในระยะยาวเพื่อคนรุ่นหลัง สหรัฐฯและอาเซียนมีวิสัยทัศน์หลายด้านร่วมกัน การประชุมร่วมกันในครั้งนี้คือการย้ำว่า สหรัฐฯยังคงเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค และกล่าวถึงความจำเป็นของการรักษาเสรีภาพในการลาดตระเวนทางทะเล สหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานทุกด้านของอาเซียน ในการจัดการกับภัยคุกคามที่มีต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศ และสหรัฐฯจะมอบความช่วยเหลือด้านวัคซีนให้แก่อาเซียนเพิ่มเติมอีก หลังจากที่ให้ความช่วยเหลือไปแล้วมากกว่า 115 ล้านโดส



          นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดน เสนอชื่อนายโยฮันเนส อับราฮัม เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำอาเซียนคนใหม่ หลังจากที่เป็นตำแหน่งว่างมาตลอด 4 ปีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี





          เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ แถลงนโยบายเข้ารับตำแหน่งในปีที่แล้ว เขาประกาศว่าการแข่งขันกับจีนคือเป้าหมายสำคัญ ซึ่งในภูมิภาคอาเซียน จีนคือหุ้นส่วนทางการค้าที่มีความสำคัญ และในการเชิญผู้นำกลุ่มอาเซียนเดินทางเยือนในปีนี้ เขาได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนงบประมาณ 150 ล้านดอลลาร์ในการริเริ่มโครงการใหม่ ๆ รวมถึงการสนับสนุนด้านความมั่นคงทางทะเล





          ทั้งนี้ ในการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยมีความเห็นพ้องว่าอาเซียนและสหรัฐฯ ต้องมีความร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อก้าวผ่านความท้าทายใหม่ในหลายประการ ได้แก่การรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-19 และการส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขในระยะยาว สหรัฐฯ สามารถขยายความร่วมมือกับอาเซียนในด้านการวิจัย การพัฒนายาและเวชภัณฑ์ ขยายฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขและเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับภูมิภาค โดยไทยมี “ศูนย์จีโนมิกส์” ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังสามารถเข้ามาลงทุนและพัฒนาด้านดิจิทัลสตาร์ทอัพในอาเซียนเพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ส่วนความร่วมมือทางทะเล จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลได้อย่างยั่งยืน



...



#สหรัฐอเมริกา



#อาเซียน

ข่าวทั้งหมด

X