สถาบันประชาธิปไตยในสหราชอาณาจักร (Democracy Institute/Express.co.uk poll) รายงานผลการสำรวจความเห็นชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งพบว่าชาวอเมริกันจำนวนมากให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจของอเมริกามากกว่าสถานการณ์ในยูเครน
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53 ระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ทำร้ายสหรัฐฯ มากกว่ารัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นมาก
นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังสูญเสียความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ทำให้มีคะแนนในเชิงลบทุกด้าน โดยนโยบายด้านการต่างประเทศแย่ที่สุด เมื่อกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายด้านการต่างประเทศของเขา เทียบกับร้อยละ 40 ที่เห็นด้วย โดยเฉพาะในประเด็นยูเครนมีเพียงร้อยละ 38 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ “เป็นผู้พิทักษ์” แต่ร้อยละ 52 ไม่เห็นด้วย
ประธานาธิบดีไบเดนและคณะผู้บริหารของเขามักพยายามตำหนิรัสเซียและประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ว่าเป็นสาเหตุของเงินเฟ้อในสหรัฐฯ แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันจำนวนมากแย้งว่า พวกเขามีปัญหาค่าครองชีพสูงมานานหลายเดือน ก่อนที่รัสเซียจะส่งกองทหารเข้าไปในยูเครน ทั้งชี้ไปที่ประธานาธิบดีไบเดนว่าคือผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 50 กล่าวว่า พวกเขาจะสนับสนุนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งกลางเทอมเดือนพฤศจิกายน เทียบกับร้อยละ 42 ที่บอกว่าพวกเขาจะเลือกพรรคเดโมแครต
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร้อยละ 43 ยังมีความรู้สึก "โอเค" กับการที่ยูเครนแพ้รัสเซีย ทั้งกลุ่มตัวอย่างมากถึงร้อยละ 53 ยังเห็นว่า จะเป็นการดีกว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนจะออกจากตำแหน่ง
ประธานาธิบดีไบเดน ใช้มาตรการคว่ำบาตรภาคการธนาคารและพลังงานของรัสเซีย ขณะที่การจัดส่งอาวุธมูลค่าเกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์ไปให้ยูเครน ทั้งขอให้สภาคองเกรส อนุมัติชุดความช่วยเหลืออีก 33,000 ล้านดอลลาร์สำหรับยูเครน โดยในจำนวนนี้จะได้รับการจัดสรรจำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์สำหรับความช่วยเหลือทางทหาร และเมื่อวันจันทร์ (9 พ.ค.) เขายังลงนามในกฎหมายซึ่งช่วยให้สหรัฐฯ สามารถจัดส่งอาวุธไปยังยูเครนได้ไม่จำกัดจำนวน
ในความเห็นของรัสเซีย การสนับสนุนของสหรัฐฯต่อยูเครนโดยตรง ร่วมด้วยข้อตกลงแบ่งปันข่าวกรองระหว่างสหรัฐฯ นาโต และยูเครน คือการที่ชาติตะวันตก จะทำสงครามกับรัสเซียโดยผ่านตัวแทน
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกัน ระบุว่า จีน คือ ภัยคุกคามอันดับ 1 (ร้อยละ 40), อิหร่าน (ร้อยละ 20), เกาหลีเหนือ (ร้อยละ 18) และ รัสเซีย (ร้อยละ 18)
นายแพทริก บาแชม ผู้อำนวยการสถาบันประชาธิปไตย ผู้จัดทำการสำรวจ สรุปผลสำรวจว่า ผู้บริหารของสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อหวังทำลายค่าเงินรูเบิล และเศรษฐกิจรัสเซีย ทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านประธานาธิบดีปูติน เพื่อให้เขาลงจากอำนาจ และรัสเซียเคลื่อนทหารออกจากยูเครน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันพบว่าทุกอย่างเป็นไปในทางตรงข้าม เมื่อรวมกับการที่ชาวอเมริกันมีความเหน็ดเหนื่อยจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้คะแนนนิยมรัฐบาลลดลง
…
#สหรัฐอเมริกา
#โจไบเดน