แพทย์เตือนอันตราย'อัลปราโซแลม' ล่วงละเมิดทางเพศ-ผสมสารเสพติด

10 พฤษภาคม 2565, 14:35น.


          อัลปราโซแลม หลายคนเรียกว่า ยาเสียสาว และถูกหยิบยกขึ้นมาเกี่ยวโยงกับหนึ่งในผู้อยู่บนเรือลำเดียวกับ แตงโม ภัทรธิดา นิดา พัชรวีระพงษ์ โดยสารดังกล่าวพบในร่างของปอ ตนุภัทร ที่ยอมรับเองว่าเป็นตัวเองที่ไปตรวจและเจอผลยาตัวนี้ เนื่องจากกินยาเพราะต้องการแก้เครียด หลังเกิดเหตุ แตงโม นิดาเสียชีวิต



          สำหรับ อัลปราโซแลม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ผศ.นพ.สุวิทย์  เจริญศักดิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ความรู้ไว้อย่างน่าสนใจตั้งแต่ปี 2556 ดังนี้  ปัจจุบัน มีการใช้ยาอัลปราโซแลม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไปในทางที่ผิด เช่น นำไปใช้เป็นยานอนหลับอย่างแรงเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ หรือนำไปผสมในสารเสพติด  แต่ในทางการแพทย์ การใช้ยาในทางที่ถูกต้องก็มีประโยชน์  ซึ่งยาชนิดนี้แพทย์จะนำมาใช้เพื่อการรักษาโดยมีข้อบ่งชี้หลายอย่าง



          ยาอัลปราโซแลมมีชื่อทางการค้าหลายชื่อ เช่น “ซาแน็กซ์โซแลม” ในทางการแพทย์เราใช้ยาอัลปราโซแลมเพื่อบรรเทาหรือรักษาอาการวิตกกังวลและอาการตื่นตระหนก หรือใช้เป็นยานอนหลับในกรณีที่จำเป็น  ที่มีประสิทธิภาพดีในทางรักษา



          สำหรับยาอัลปราโซแลมที่แพทย์ใช้มีอยู่ 3 ขนาด คือ 0.25 มิลลิกรัม 0.5 มิลิกรัม และขนาด 1  มิลลิกรัม โดยมีรูปร่างเม็ดรี  สีที่เฉพาะตามขนาด คือสีขาว สีชมพู และสีม่วง ตามลำดับ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกขนาดยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ยานี้ออกฤทธิ์เร็วหลังจากรับประทานไปประมาณ 20 นาที  ดาบย่อมมีสองคมเช่นเดียวกันกับยาอัลปราโซแลม  พบว่าผู้ที่ใช้ยาอาจมีอาการหลงลืม โดยจะจำเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ได้หลังจากที่รับประทานยาไป ทำให้เป็นที่มาในการใช้ยานี้เพื่อล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเหยื่อจะจำเหตุการณ์ไม่ได้ แต่ฤทธิ์ของยาจะคงอยู่ไม่เกิน 1 วัน และถ้าดื่มน้ำมากๆ ยาก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะจนหมด  



          นอกจากนี้การใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการติดยาได้ทั้งร่างกายและจิตใจ  และหากหยุดยากะทันหันจะเกิดอาการขาดยา มีอาการคลื่นไส้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากต้องรับประทานร่วมกับยาตัวอื่น เช่น ยากดหรือกระตุ้นประสาท  ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะมียาหลายชนิดที่มีปฏิกิริยาต่อระดับอัลปราโซแลมในกระแสเลือดจนทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้ และหากรับประทานยาพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ยาจะออกฤทธิ์ทำให้กดประสาทมากขึ้นและอาจกดการหายใจ ส่งผลให้หยุดหายใจได้ ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ว่ายังมีความจำเป็นในการใช้อยู่หรือไม่ หยุดใช้เมื่อเหมาะสม



          ปัจจุบัน มีการควบคุมการใช้ยาอัลปราโซแลมอย่างเข้มงวด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการใช้ยาในทางที่ผิด ซึ่งหากอยู่ในมือของแพทย์ก็จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชีวิตมนุษย์ แต่หากอยู่ในมือของผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากผู้อื่นในทางมิชอบ ก็จะกลายเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน  เนื่องจากยาอัลปราโซแลม เป็นสารประกอบที่ไม่มีสี  ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ถ้านำไปผสมในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ผู้ที่ดื่มมีอาการง่วงซึม  มึนงง สูญเสียการทรงตัวและสูญเสียความทรงจำ  ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มต้องระมัดระวังกันมากขึ้น



 



 



#ยาเสียสาว



#ยานอนหลับ



#คดีแตงโมง



 



CR:https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1026

ข่าวทั้งหมด

X