สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยเป็นโอไมครอน 100% ไม่พบสายพันธุ์อื่นทั้งอัลฟา เดลตา และเบตา ส่วนสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนเปลี่ยนจาก BA.1 มาเป็น BA.2 แยกเป็น พบ BA.2 ประมาณ 97.6% ที่เหลือ 2.4% เป็น BA.1 อย่างไรก็ตาม BA.1 และ BA.2 มีสายพันธุ์ย่อยลงไปอีกจำนวนมาก ที่พบมากในไทย 2 สัปดาห์ล่าสุด คือ BA.1.1 , BA.2.9 , BA.2.10 , BA.2.10.1 และ BA.2.12
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำว่า ขณะนี้ องค์การอนามัยโลกให้แต่ละประเทศช่วยกันเฝ้าระวังและตรวจสอบ 3 สายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน คือ BA.4 , BA.5 ซึ่งพบตั้งแต่ช่วง ก.พ. 2565 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่พบมากแถวแอฟริกาใต้ บอตสวานา และยุโรป โดย BA.4 รายงานเข้า GISAID แล้ว 955 ราย และ BA.5 รายงาน 441 ราย และสายพันธุ์ BA.2.12.1 พบมากในสหรัฐอเมริกา ประมาณ 1 หมื่นรายที่รายงานเข้าไปใน GISAID แล้ว ซึ่งประเทศไทยยังไม่พบ BA.4 พบแต่ BA.5 จำนวน 1 คน เป็นชาวบราซิล ส่งตัวอย่างให้ตรวจตอนเม.ย. ขณะนี้หายดีกลับบ้านเรียบร้อย ส่วน BA.2.12.1 ยังไม่พบในไทย แต่พบตัวแม่ คือ BA.2.12 จำนวน 2 คน คือ ชาวอินเดียและแคนาดา
ส่วนการเฝ้าระวัง คนที่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา กรณี BA.2.12.1 หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า อาจยังไม่ต้องขนาดนั้น เพราะยังไม่ส่งสัญญาณอะไร เว้น 2-3 สัปดาห์จะมีสัญญาณว่ารุนแรงมากขึ้นหรือหนักขึ้น แต่หากให้คาดเดาไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะลูกหลานๆ ที่ออกมาก็ไม่ได้มีอะไร เหมือนตอน BA.2.2 ที่ฮ่องกงคิดว่าทำให้ป่วยหนัก ปรากฏว่าเป็นเพราะคนไข้เพิ่มขึ้นเยอะและมีปัญหาการจัดการ
นอกจากนั้น ขณะนี้ได้สั่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่ง เฝ้าระวังตรวจทั้ง 3 สายพันธุ์ โดยเน้นการเก็บตัวอย่างในคนที่มาจากต่างประเทศ ผู้ป่วยอาการหนัก หากพบสัดส่วนผู้ป่วยอาการหนักในเชื้อกลายพันธุ์ที่เราเฝ้าระวังมากขึ้น ก็แสดงว่ามีสัญญาณบางอย่าง ซึ่งเราสามารถตรวจเฉพาะจุดด้วยวิธี SNP โดยมีน้ำยาที่ให้แต่ละศูนย์ตรวจได้ปริมาณมาก
ส่วนความรุนแรงของ BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งโปรตีนหนาม L452R เหมือนกับสายพันธุ์เดลตา ในขณะนี้ ยังสรุปไม่ได้ ขณะเดียวกันมีรายงานจากแอฟริกาใต้ว่า เมื่อติดเชื้อด้วย BA.1 ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่สามารถกันติดเชื้อ BA.2 ได้ จึงไม่สามารถกัน BA.4 และ BA.5 ได้ด้วย แต่หากติดเชื้อ BA.1 เคยรับวัคซีนมาก่อน แม้ภูมิคุ้มกันลดลง ก็ไม่มาก จะช่วยกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากกว่า เรียกว่าฉีดวัคซีนด้วยดีกว่าติดเชื้อโดยธรรมชาติ วัคซีนยังช่วยป้องกันไม่ว่าสายพันธุ์ไหน
ด้านสายพันธุ์ลูกผสมหรือไฮบริดของไทยที่เราส่งตัวอย่างจำนวนหนึ่งที่มีความคล้ายกับ XJ เข้าไปยังฐานข้อมูลกลางโลก GISAID ซึ่งหาก GISAID วิเคราะห์เรียบร้อยแล้วเป็นจริงก็จะมีการนำขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งขณะนี้ข้อมูลสายพันธุ์ลูกผสมที่ GISAID รับรองแล้ว ยังไม่มีตัวอย่างของประเทศไทย คือ ยังไม่พบว่าเข้าได้กับสายพันธุ์ลูกผสมหรือ X ตัวใด
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปถึง GISAID จะมีชั้นต้นในการใช้เครื่องอัตโนมัติในการเรียกบอกสายพันธุ์ พบว่า ตัวอย่างของไทยทั้ง 12 ตัวอย่าง เป็น XM 8 ตัวอย่าง XN 3 ตัวอย่าง และ XE 1 ตัวอย่าง แต่ต้องรอ GISAID วิเคราะห์ว่าใช่หรือไม่ใช่ ทำให้จนถึงขณะนี้สายพันธุ์ลูกผสมในไทยไม่น่ากังวล เพราะน่าจะพบน้อยลง เนื่องจาก เดลตาหายไปเกือบจะสิ้นเชิง ไม่น่าจะมีตัวอะไรมาไฮบริด ยกเว้นแต่ตัวไฮบริดที่เจอขยายพันธุ์ของมันเอง
#โอไมครอน
#โควิด19