ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ตรงกับสถานการณ์จริง เตียงผู้ป่วยเหลือง-แดง ยังเพียงพอ

06 พฤษภาคม 2565, 15:10น.


           การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในวันนี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดงานและบรรยายพิเศษ “ทิศทางและนโยบายภาครัฐ หลังการประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น” มีใจความตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยเผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 มาเกือบ 3 ปี มีการต่อสู้และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก รพ.เอกชน ในเรื่องของ UCEP COVID ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราเดินหน้ามาจนถึงวันนี้ได้ คือ มีอัตราการติดเชื้อลดลง ผู้ป่วยในสถานพยาบาลและผู้เสียชีวิตก็ลดลง ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 2 คือ ระยะทรงตัว มีแนวโน้มลดลง โดยยอมรับว่า ตัวเลขในระบบอาจจะยังไม่ตรงกับสถานการณ์จริง ซึ่งไม่ใช่ว่าปิดบังตัวเลข แต่อาจมีผู้ที่ไม่ได้รายงานเข้ามา เช่น ตรวจ ATK ผลบวกแต่ไม่ได้รายงานเข้าระบบ บางส่วนแยกไปรักษาเองโดยไม่ได้บอก



          สำหรับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น เรามีการประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้ หากทำได้ตามหลักเกณฑ์ก็น่าจะพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นตามเป้าหมายคือช่วงวันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป



          ส่วนการผ่อนคลายมาตรการ เช่น ถอดหน้ากากอนามัยนั้น การผ่อนคลายมาตรการขึ้นอยู่กับพื้นที่และสถานการณ์ แต่ในบางประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการ ก็มีทั้งที่ถอดหน้ากากและยังใส่หน้ากากอยู่ หัวใจสำคัญคือต้องก้าวข้าม อยู่กับโควิดอย่างเข้าใจ รู้เท่าทัน และเดินหน้าเศรษฐกิจให้ได้



       ด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคม รพ.เอกชน กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ใน รพ.เอกชนมีไม่มาก ผู้ป่วยสีเหลืองและแดงจำนวนไม่มาก เตียงมีเพียงพอ เนื่องจากช่วงหลังโควิด-19ในคนหนุ่มสาวจะกักตัวอยู่บ้านมากกว่า ส่วนประเทศไทยพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่นแล้วหรือไม่ ต้องติดตามดูสักระยะ สิ่งสำคัญคือ คนยังฉีดบูสเตอร์ไม่สูง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีน



       จากประสบการณ์ที่ดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก เพียงยาฟาวิพิราเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ก็เอาอยู่ แต่ขอให้ไปพบแพทย์เร็ว อย่าช้าจนอาการสีเหลืองแล้วลงปอด และบางคนไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้น สิ่งสำคัญสุดของการเป็นโรคประจำถิ่น คืออัตราการฉีดวีคซีนเข็มกระตุ้น



          ส่วนการนำเข้ายามารักษาโดยเอกชน เนื่องจากโควิด-19 ยังเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐต่างๆ ยังต้องรับผิดชอบ ซึ่งยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดต้องเป็นไปตามเกณฑ์ แต่บางคงต้องการได้ยาเร็ว จึงกำลังหากลไกอยู่ เพราะบางคนกลัว ซึ่งประเทศไทยนำเข้ายาราคาต่อคอร์สจะสูง เช่น โมลนูพิราเวียร์ 10,000 บาทต่อคอร์ส แต่ลาวได้รับสิทธิราคา 800 บาทต่อคอร์ส ต่างกันมาก จึงอยู่ระหว่างการหากลไก ขณะนี้ รพ.เอกชน มียารักษาโควิด คือ ฟาวิพิราเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ คอร์สละประมาณ 1,500 บาท ส่วนโมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด ในอนาคตกำลังหาเกณฑ์ โดยบริษัทนำเข้ายากำลังพยายามขายให้เอกชน แต่ถ้าเอกชนใช้ลงไปต้องมีเกณฑ์ชัดเจน มิเช่นนั้นอาจจะถูกสังคมตำหนิได้ เพราะยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น จึงเป็นสิ่งที่เอกชนระวัง



 



 



#โรคประจำถิ่น



#โควิด19



แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X