สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันโควิด-19กลายพันธุ์โอไมครอน ที่กำลังแยกย่อยในขณะนี้
เนื้อหาบางส่วนจาก เพจ Center for Medical Genomics ระบุว่า แม้ผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายใหม่และผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยขณะนี้มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจนอาจเข้าสู่ภาวะ “โรคประจำถิ่น” ที่ระบบสาธารณสุขสามารถควบคุมการระบาดได้ แต่เหตุใดจึงยังสมควรต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกหากยังไม่เคยฉีดและฉีดเข็มกระตุ้นทันทีเมื่อครบกำหนด
จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่า แอนติบอดีที่ร่างกายเราสร้างขึ้นจากการติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 ตามธรรมชาติ (natural infection) ไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ที่อุบัติใหม่ อย่าง BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ได้ดี
คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแต่เพิ่งหายขาดจากการติดเชื้อ BA.1 พบว่าความสามารถของแอนติบอดีในร่างกายที่จะต่อต้านไวรัส BA.4 และ BA.5 ลดลงมากกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับความสามารถในการต่อต้าน BA.1 ในขณะที่ผู้ที่เคยฉีดวัคซีน (วัคซีนผลิตจากส่วนหนามของไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่น) และเพิ่งหายจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติ ความสามารถของแอนติบอดีในร่างกายที่จะต่อต้านไวรัส BA.4 และ BA.5 ลดลงไปเพียง 3 เท่า หมายถึงลำพังแอนติบอดีจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ได้ดีนัก แต่หากมีการฉีดวัคซีนก่อนและมีการติดเชื้อ BA.1 ร่วมด้วย แอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นจะสามารถยับยั้งไวรัส BA.4 และ BA.5 ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ไม่ป่วยไม่ตาย เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแต่มีการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว
ดังนั้นในช่วง “พักยก” (จำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง) จึงควรรีบไปฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำหากมีการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 เข้ามาในประเทศไทย เพราะภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม อาจไม่ช่วยปกป้องเรามากนักจากโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่
#โอไมครอน
#ติดเชื้อซ้ำ
CR:https://www.facebook.com/CMGrama