สธ.ยอมรับยอดติดเชื้อโควิด-19 ลดลง เพราะโอไมครอนไม่มีอาการ รักษาเองไม่เข้าระบบ

02 พฤษภาคม 2565, 14:28น.


          สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ติดเชื้อปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ ในช่วง2-3วันนี้ทรงตัว มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องอย่างช้าๆ





         ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ใช้ระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาล  ขณะที่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ บางจังหวัดลดลง เช่น กรุงเทพฯ เคยมีวันละ200กว่าคนลดลงมา จ.กาญจนบุรี อยู่ที่ประมาณ 70 คน ถือว่าทรงตัว ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี  ตัวเลขขึ้นมาจาก 50 คน เป็น 61 คน หากดูอัตราการครองเตียงภาพรวมในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ดี ประมาณ 23% เพื่อที่จะสำรองเตียงไว้ให้ผู้ป่วยอาการหนัก หรือผู้ป่วยโรคอื่นๆ แต่ไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับการฉีดวัคซีน และเมื่อไทยเริ่มเปิดประเทศ จึงต้องเร่งฉีดวัคซีน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน ลดอาการหนัก โดยเฉพาะเข็มกระตุ้นต้องฉีดให้ได้ 60%   





         



          ส่วนตัวเลขการติดเชื้อคนที่มาจากต่างประเทศจะต้องติดตามต่อไปอีก 2-3 สัปดาห์ หลังจากยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศแบบ Test&Go



          ตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลง นพ.จักรรัฐ ชี้แจงว่า การติดเชื้อโอไมครอนที่มีอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ หลายคนรักษาเอง และมีบางส่วนจำนวนหนึ่งไม่ได้รายงานเข้าระบบ สะท้อนสถานการณ์จริงในขณะนี้ได้   





          ขณะที่ ตัวเลขผู้เสียชีวิต ยังต้องติดตามใกล้ชิดว่ามีความสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อรายใหม่หรือไม่ ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนมาก ยังอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกลดลง  ล่าสุด ได้มีการปรับระบบการรายงานเพื่อแยกให้ชัดเจนว่าผู้เสียชีวิตๆจากโควิด-19 หรือ มีโรคประจำตัวที่มีอาการรุนแรงและติดเชื้อจนเสียชีวิต แต่จากข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.65 มีแนวโน้มลดลง ข้อมูลวันนี้พบผู้เสียชีวิตถึง 66% ฉีดวัคซีนเข็มเดียว หรือไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย ขอย้ำว่า วัคซีนมีความสำคัญ ลดความรุนแรงของโรค กลุ่มสูงวัย กลุ่มคนที่มีโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องฉีดให้ครบ โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น การฉีดวัคซีน 2 เข็มป้องกันการเสียชีวิต 5เท่า การฉีดเข็มที่ 3 และ 4 ลดการเสียชีวิตได้ถึง 31เท่า



         การปรับระบบการรายงานเรื่องการเสียชีวิต มีความสำคัญมาก เนื่องจาก เดือนพ.ค. 65 จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อเตรียมเข้าสู่ระยะการเป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้น ข้อมูลต่างๆจึงมีความจำเป็นที่จะใช้ในการวางแผน ขอให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฎิบัติการเตรียมความพร้อม ถ้าหากโควิด-19 เกิดการกลายพันธุ์ อาจจะระบาด หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น จะต้องรับมือได้ ทั้งบุคลากร เวชภัณฑ์ และยา กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเตือนทุกจังหวัดทั่วประเทศในระดับ 4 ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน แม้ตัวเลขต่างๆจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีความเสี่ยง เลี่ยงพื้นที่ที่มีคนจำนวนมากให้มากที่สุด เพื่อลดการระบาดลงให้เร็วขึ้น



 



#โควิด19



#โรคประจำถิ่น



แฟ้มภาพ



 

ข่าวทั้งหมด

X