วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2565 (11.00 น.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดงานที่กระทรวงแรงงาน เพื่อรับข้อเรียกร้อง และกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้ใช้แรงงาน
นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2565 จะนำเสนอข้อเรียกร้องของ 15 สภาองค์การลูกจ้างรวม 8 ข้อ ได้แก่
1 ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง
2 ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ....ฉบับแก้ไข เข้าสู่รัฐสภาเร่งด่วน
3 ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้าย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
4 ให้รัฐบาลเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อาทิ หามาตรการให้สถานประกอบการที่รับเหมาช่วงปฎิบัติตามกฏหมาย
5 ปฎิรูปแก้ไขประกันสังคม อาทิ ปรับฐานการรับเงินบำนาญ ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปีเป็น 15-70 ปี
6 เร่งออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ
7 จัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจให้เทียบเคียงกับระบบสวัสดิการภาคราชการ
8 ให้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้อง
ในส่วนของการจัดกิจกรรมวันนี้ คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประกอบด้วย ประธานสภาองค์การลูกจ้าง 14 แห่ง ประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ จะมีการเคลื่อนริ้วขบวนรถเทิดพระเกียรติ และริ้วขบวนรถของผู้ใช้แรงงาน ออกจากสนามหลวงมายังกระทรวงแรงงาน
และมีการเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจยุคโควิดกระทบแรงงานและค่าจ้างอย่างไร” โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย และ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการอิสระ พร้อมทั้งมีการจัดนิทรรศการของหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน แนะนำให้เปลี่ยนหลักการพิจารณาค่าจ้างว่าคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไม่ใช่เรื่องการควบคุมต้นทุน ซึ่งที่ผ่านมา การพิจารณาค่าจ้างไม่เคยพูดถึงค่าจ้างที่ให้คนงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จริงๆ โดยยังมีงานวิจัยที่พบว่าคนงานร้อยละ 80 ไม่ได้อยู่คนเดียวแต่ต้องเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวอีกมากกว่า 2 คน และอนาคตสังคมเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุต้องเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น
นอกจากนี้ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำยังเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าหลักเกณฑ์
ขณะที่หนี้สินของแต่ละครัวเรือนก็อยู่ในระดับสูง และเป็นหนี้นอกระบบ เท่าที่ฟังการเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ นายจ้างกับลูกจ้างไม่เคยพูดถึงเรื่องเดียวกัน จึงแนะนำให้ว่าจ้างนักวิชาการ เช่น TDRI ทำข้อเท็จจริงมาพิจารณา
ในส่วนกิจกรรมของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องให้เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ในอัตราเดียวกัน 492 บาท
โดยจะมีนัดรวมกลุ่มที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลา 8.30 น. เพื่อเคลื่อนขบวนมาทำเนียบรัฐบาล และตั้งเวทีปราศรัย กิจกรรมจะสิ้นสุดในเวลาประมาณ 12.30 น.
….
#วันแรงงาน
กระทรวงแรงงาน
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย - คสรท.