4 เดือนแรกของปีนี้ ดำเนินคดีค้ามนุษย์แล้ว 85 ราย อัยการสั่งฟ้อง 100%

30 เมษายน 2565, 17:40น.


          พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) เปิดเผยว่าผลการเร่งรัดปราบปราม ดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง โดยให้พนักงานสอบสวนหารือกับพนักงานอัยการ สำนักคดีค้ามนุษย์ ในการทำสำนวนการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ทุกคดี เพื่อให้สำนวนคดีรัดกุมนำไปสู่การสั่งฟ้องทุกคดีในชั้นอัยการ



          ในปี 2564 ดำเนินคดีค้ามนุษย์ 188 คดี เป็นความรับผิดชอบของตร. 182 คดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ 6 คดี จำแนกเป็น



ค้าประเวณี 132 คดี



สื่อลามก 13 คดี



ผลประโยชน์รูปแบบอื่น 7 คดี



เอาคนลงเป็นทาส 2 คดี



ขอทาน 2 คดี



บังคับใช้แรงงาน 15 คดี



ขูดรีดและอื่นๆ 11 คดี



          โดยทั้งหมด โดยอัยการสั่งไม่ฟ้อง 7 คดี



          ต่อมาในปี 2565 ที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าสถิติการจับกุม ดำเนินคดีมนุษย์เพิ่มขึ้น เพียงช่วง 4 เดือนแรกของปี มกราคม-เมษายน 2565 จับกุมได้แล้ว 85 คดี เป็นความรับผิดชอบของตร. 83 คดี ดีเอสไอ 2 คดี จำแนกเป็น



คดีค้าประเวณี 63 คดี



สื่อลามก 10 คดี



ขอทาน 3 คดี



บังคับใช้แรงงาน 7 คดี



          ไม่ปรากฏคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง



          ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ อาทิ กัมพูชา, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวม 664 ราย เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ 279 ราย ไม่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ 320 ราย อยู่ระหว่างคัดแยก 65 ราย ขณะเดียวกัน ดำเนินคดีเรือประมงผิดกฎหมาย 13 ลำ จากการตรวจสอบ 2,116 ลำ นอกจากนี้ยังตรวจสอบคดีลูกเรือตกน้ำในช่วงปี 2563 – 2564 จำนวน 231 ราย พบลูกเรือถูกทำร้ายร่างกายก่อนตกน้ำเสียชีวิต 4 ราย แต่ยังไม่พบว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์



           ส่วนกรณีที่สำนักข่าวอัลจาซีเราะห์ รายงานคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในพื้นที่ สภ.ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา โดยอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ ของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดี ที่ว่าถูกกดดันให้ช่วยเหลือพล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ต้องหารายสำคัญในคดีนี้ เพื่อให้ได้รับการประกันตัวนั้น พล.ต.อ.รอย กล่าวว่าการทำคดีนี้เป็นไปในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งการพิจารณาในการปล่อยชั่วคราวอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ประกอบกับเป็นคดีร้ายแรง และมีอัตราโทษสูงถึงการประหารชีวิต มีผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก จึงต้องปฏิบัติให้เท่าเทียมกัน ไม่มีผู้ต้องหารายใดได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน การกล่าวอ้างว่าถูกกดดันขอให้ช่วยเหลือให้ได้รับการประกันตัวจึงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งพล.ต.ต.ปวีณ ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้ประกันตัว นอกจากนี้ ยังเป็นคดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญเนื่องจากในช่วงนั้นไทยถูกจับตาเรื่องการจัดระดับ Trafficking in Persons (TIP) Report ซึ่งไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 และในภายหลังคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เจ้าหน้าที่ยังมีการขยายผลจับกุมผู้ต้องหาจำนวนมาก ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ส่งผลให้การจัดระดับ TIP report ของไทยขยับดีขึ้นอยู่ที่ เทียร์ 2 เฝ้าระวัง



....



#คดีค้ามนุษย์



Police TV



 

ข่าวทั้งหมด

X