นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยในปัจจุบันทั่วประเทศ กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 1,260 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-24 เมษายน 2565 พบว่า ส่วนใหญ่ถึง 99% มีหนี้สิน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาจากการใช้จ่ายประจำวัน มีหนี้บัตรเครดิตและจากที่อยู่อาศัย โดยภาพรวมจำนวนหนี้สินเฉลี่ย กว่า 2 แสน 1 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.90% เทียบกับปีที่แล้ว ถือเป็นมูลค่าที่สูงขึ้นในรอบ 14 ปี และมี 31.5% เคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะจำนวนหนี้และค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ได้รายได้ไม่เพียงพอ
“ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งค่าสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าน้ำมัน ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายลดลง เป็นผลให้เศรษฐกิจภาพรวมขาดกำลังและไม่โดดเด่น ทำให้หนี้ครัวเรือนในปี 2565 มีโอกาสสูงสุด 95% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เป็นผลให้ จีดีพี ปี 2565 มีโอกาสโตอยู่ในกรอบ 3-3.5% แต่หากภาครัฐ ไม่มีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทย ปีนี้ให้ขยายตัวเหลือเพียง 3%”
สำหรับกรณีการทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซล เป็น 32 บาทต่อลิตร ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เพดานไม่เกิน 35 บาท นั้น ส่งผลให้มีโอกาสที่น้ำมันดีเซลจะขยับถึงเพดาน 35 บาทต่อลิตรภายในเดือนมิถุนายนนี้ ดังนั้น การที่ดีเซลแพงขึ้นทุก 1 บาทต่อลิตร ยาวไป 1 ปี เศรษฐกิจจะชะลอ 0.2% ซึ่งหากปรับขึ้น 5 บาทต่อลิตร จะกระทบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง จะย่อลง 0.5%
ปัจจัยลบดังกล่าวทำให้มองว่า แนวทางสนับสนุนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 วงเงิน 1,000-1,500 บาทต่อรายมาชดเชยรายจ่ายจากราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการโควิด จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และยังพอมีโอกาสประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัว 3.5% ได้อีกด้วย
#หนี้แรงงานไทย
#กระตุ้นเศรษฐกิจ