ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ในการประชุมวันนี้ตามคาด รวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0%ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการ BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2565 ลงเหลือ 2.9% จากระดับ 3.8% และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานสู่ระดับ 1.9% จากระดับ 1.1%
นักลงทุนจับตาการแถลงข่าวของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ในวันนี้ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า การทรุดตัวของเงินเยนในขณะนี้จะทำให้นายคุโรดะ ถูกกดดันให้ต้องอธิบายเหตุผลที่ BOJ ตัดสินใจคงนโยบายการเงินในวันนี้ ท่ามกลางกระแสความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นว่า การทรุดตัวของเงินเยนจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าพุ่งสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าทรัพยากร
นอกจากนี้ ตลาดการเงิน กำลังจับตาดูว่า BOJ มีมุมมองอย่างไรต่อการอ่อนค่าของเงินเยน หลังจากที่เงินเยนอ่อนตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นเวลานานของ BOJ และการเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เงินเยนอยู่ที่ระดับ 128.79 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นเมื่อวานนี้(27 เม.ย.65) ที่ระดับ 127.85 เยน/ดอลลาร์
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 34.39 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าต่อจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 34.33 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจาก ทิศทางของดอลลาร์สหรัฐฯยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ซึ่งตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง เนื่องจาก ความกังวลในหลายด้าน เช่น การประกาศล็อกดาวน์ของจีน จากการระบาดโควิด-19,ความกังวลที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งในยุโรปกังวลกรณีที่รัสเซียจะไม่ส่งก๊าซให้กับโปแลนด์ เป็นต้น ทำให้เงินยูโร อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกัน
#BOJ
#คงดอกเบี้ยนโยบาย
#เงินเยนอ่อนค่า
แฟ้มภาพ