วันที่สองของการลงพื้นที่ เยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำและเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาของชุมชน วันนี้ ได้ลงพื้นที่ ที่ บ้านหนองนาขวัญตามแนวพระราชดำริในพื้นที่แก่งละว้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น โดยนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีเป็นประธานในการตรวจเยี่ยม ชุมชนนี้เป็นชุมนุมที่มีการเพาะเลี้ยงปลานิล จะมีปัญหาเรื่องน้ำเค็มมาโดยตลอด ร.ต. สมพงษ์ ไชยสง ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลาบ้านหนองนาขวัญ เล่าให้องคมนตรี ฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าสิ่งที่ กังวลในการเลี้ยงปลา ไม่ใช่ปัญหาภัยแล้งแต่เป็นปัญหาศัตรูของปลา เช่น งู หรือ ปลาช่อน ที่จะเข้ามากินปลานิล นอกจากนี้ ค่าความเค็มของน้ำ ที่กังวลจะทำให้ปลาตายจะ ต้องเกิน 15 PPT ขึ้นไป จึงต้องระวังเป็นพิเศษ หากช่วงใดพบว่าน้ำเค็มมากก็ต้องนำน้ำจากแหล่งอื่นที่มีการขุดไว้อยู่แล้วมาผสม พร้อมบอกด้วยว่าอยากให้ภาครัฐจัดหาน้ำให้มากกว่านี้เพื่อให้สบายใจในการเลี้ยงปลา จึงขอให้ภาครัฐ ช่วยจัดทำแก้มลิง เพื่อผลักดันน้ำเค็มออกไปเพื่อให้ปลาอยู่รอด ร.ต. สมพงษ์ เล่าให้ฟังว่า กลุ่มก่อตั้งเมื่อปี 2556 มีสมาชิกราว 20 คน รวมกันออมเงินเป็นกองทุนกลางของกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันในการเพาะพันธุ์ปลา ซี่งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ จะรับมาจากกรมประมงจังหวัดและมีกรมประมงมาให้คำแนะนำในการเลี้ยงโดยกลุ่มจะเลี้ยงปลานิลและปลากระพงขาวเป็นหลัก เนื่องจากสามารถทำรายได้ได้ดี แต่ก็มีการเลี้ยงปลาชนิดอื่นๆ เช่น ปลากระพงขาว ปลาตะเพียน กุ้งขาว ซึ่งต่อปีสามารถทำรายได้รวมกว่า 4,600,000บาท ผลผลิตรวม 75,000กิโลกรัม ส่วนตัวเองนั้นสามารถทำรายได้ได้ 700,000บาทต่อปี เมื่อหักต้นทุนก็จะเหลือกำไร 500,000บาท ส่วนน้ำที่เลี้ยงมามาจากแก่งละว้า ซึ่งก็ไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง และทุกคนมีน้ำเพียงพอ แต่ในอนาคตก็อาจจะขุดบ่อน้ำเป็นแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำไว้บางส่วน
นายพลากร ได้เดินตรวจเยี่ยมการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาในพื้นที่และให้ความสนใจกับกังหันสูบน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาของกลุ่มผู้เลี้ยงปลาบ้านหนองนาขวัญที่ติดตั้งระบบสูบน้ำจากกังหันให้นำมาใช้รดน้ำต้นไม้ได้ ซึ่งร้อยตรี สมพงษ์ กล่าวว่าเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มและมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ช่วยผลิตเครื่องดังกล่าวให้ เพื่อประหยัดแรงงานคน โดยการลงพื้นที่ในวันนี้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจคอยอารักขาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
ขณะที่ นายเดชา รอดระวัง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น ระบุว่า จะคอยให้คำแนะนำการเลี้ยงปลาอย่างถูกวิธี.และมุ่งหวังให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลานี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของกลุ่มอื่นๆส่วนปัญหาน้ำเค็มคิดว่าไม่เป็นปัญหาใดๆ เพราะเป็นไปตามวิธีธรรมชาติ และโดยส่วนมากแล้วปลาก็สามารถปรับตัวอยู่ในน้ำเค็มได้ดี ซึ่งจากการตรวจสอบก็พบว่าน้ำเค็มไม่เกินค่ามาตรฐาน นอกจากนี้ศูนย์วิจัยยังมีศูนย์เพาะพันธุ์ปลาเคลื่อนที่เพื่อออกให้คำแนะนำกับผู้เลี้ยงปลาด้วย
ส่วนนาย จรัส เพ็ญศิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจ.ขอนแก่น เล่าว่า พื้นที่น้ำในแก่งละว้าสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ 4 ตำบล 1,000กว่าครัวเรือน สามารถเก็บกักน้ำได้ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่เก็บกัก 12,000 ไร่ ขณะนี้มีน้ำประมาณ 36 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งถือว้าน้อยกว่าปีที่แล้วที่มีเกือบเต็มความจุ โดยรับน้ำมาจากกรมชลประทานที่จัดให้ไว้ในลำน้ำชีและอำเภอบ้านไผ่ ยืนยันว่า ในช่วงหน้าแล้งนี้ไม่มีปัญหาและสามารถถ่ายน้ำให้ประชาชนได้เพียงพอแน่นอน ในอนาคตจะมีการเสริมประตูน้ำให้มากขึ้นด้วย
ธีรวัฒน์