การตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.65 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลักการราคาส่วนที่เกิน 30 บาทต่อลิตร รัฐบาลจะอุดหนุนครึ่งหนึ่ง เพื่อกำหนดเป็นกรอบเพดานใหม่ และส่วนที่เกินจากกรอบเพดานใหม่จะสามารถอุดหนุนให้ต่ำกว่าเพดาน แต่ราคาที่เหมาะสมจะเป็นเท่าไหร่นั้น ได้มอบหมายให้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานไปพิจารณา ซึ่งราคาอาจจะน้อยกว่าเพดานใหม่ที่กำหนดขึ้นไว้ก็ได้ เช่น อาจจะขยับจาก 30 บาทเป็น 32 บาทต่อลิตร และหลังจากนั้นจะทยอยค่อย ๆ ขึ้นราคา ซึ่งตามมติ ครม.นั้นจะขยับราคาแบบคนละครึ่ง คือ ขึ้นราคาครึ่งหนึ่งในส่วนที่เกิน 30 บาท/ลิตร และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะอุดหนุนครึ่งหนึ่ง
“ราคาดีเซลหากจะขึ้นวันนี้จะอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร ส่วนที่เกิน 30 บาท/ลิตร คือ 10 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันฯเข้าไปอุดหนุนครึ่งหนึ่ง ราคาเพดานใหม่จะอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร จะไปขึ้นทันที ไม่ได้หรอก ประชาชนเดือดร้อนแน่ ให้ปลัดพลังงานไปดูว่ากรอบที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ อาจจะเป็น 32 บาทต่อลิตรก็ได้ ค่อย ๆ ขึ้นไป”
โดยขณะนี้ กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุน ราว 10 บาท/ลิตร หรือวันละกว่า 600 ล้านบาท คาดการณ์ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีแนวโน้มยืดเยื้อ จึงต้องประเมินสถานการณ์ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.65) ว่าจะปรับตัวอย่างไร และหากอยู่ในสภาพเช่นนี้เงินอุดหนุนจะต้องเอามาจากที่ไหน โดยต้องดูขนานกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปด้วย โดยเมื่อไทยเปิดประเทศ แล้วจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่
ส่วนราคาสินค้าที่ปรับขึ้นตามค่าขนส่ง บริษัทผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีสูตรการปรับราคาสินค้าอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของดีมานด์และซับพลาย ในยามนี้ วิกฤตแบบนี้ ราคาสินค้าสูงขึ้น สิ่งที่ทำได้ คือทุกฝ่ายต้องประหยัด พึ่งพาตัวเอง ลดการใช้ในสิ่งที่สิ้นเปลือง โดยรัฐบาลก็ได้ช่วยเหลือประชาชน โดยได้ออก 10 มาตรการในการช่วยเหลือค่าครองชีพไปแล้ว
ขณะเดียวกันได้หารือกับเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่า ภาคเอกชนก็ต้องร่วมบริหารลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับประชาชน เพราะต้องช่วยเหลือกัน เพื่อผ่านวิกฤตช่วงนี้ไปด้วย ซึ่งเป็นวิกฤตที่แตกต่างจากกรณีโควิด-19 เพราะสินค้าขึ้นทุกอย่าง
#กระทรวงพลังงาน
#คนละครึ่ง